เช็คความผิดปกติเบื้องต้น ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง!
โรงพยาบาลเปาโล
30-ก.ค.-2562
“เต้านม” เป็นอวัยวะที่ผู้หญิงทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะมะเร็งเต้านม ถือเป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวผู้หญิงมากที่สุดอันดับ 1 การตรวจเต้านมด้วยตัวเองจะช่วยค้นหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆเป็นผู้หญิงนอกจากจะต้องดูแลความสวยงามของร่างกายแล้ว ก็ต้องใส่ใจเรื่องของสุขภาพด้วย โดยเฉพาะเรื่องของ “เต้านม” ที่ต้องหมั่นตรวจเช็คและสังเกตอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก็จะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งเราสามารถตรวจเช็คความผิดปกติของเต้านมได้ง่ายๆ ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

รู้จัก “มะเร็งเต้านม”

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากที่สุดโรคหนึ่ง และมะเร็งเต้านมก็ถือเป็นภัยเงียบที่ใกล้ตัวผู้หญิงมากที่สุดโดยพบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในสตรี โดยปกติแล้วในระยะเริ่มแรกของมะเร็งเต้านมมักไม่แสดงอาการให้เรารู้ตัว จะชัดเจนและแสดงอาการก็ต่อเมื่อก้อนในเต้านมเกิดการอักเสบแล้ว ดังนั้นการตรวจเต้านมจะช่วยลดความเสี่ยง และเป็นการคัดกรองโรคก่อนที่โรคจะลุกลามจนสายเกิดไป

ทำไมต้องตรวจเต้านมด้วยตัวเอง

จริงๆ แล้วการตรวจเต้านมด้วยการทำดิจิตอลแมมโมแกรมและการอัลตร้าซาวนด์เต้านมจะให้ผลที่ชัดเจนถึงความผิดปกติของเต้านมได้มากกว่าการตรวจคลำด้วยตนเองเป็นอย่างมาก แต่หากใครที่มีข้อจำกัดที่ไม่สามารถไปตรวจกับแพทย์ได้ การตรวจเต้านมด้วยตนเองในเบื้องต้นก็จะช่วยตรวจหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ช่วยให้มีโอกาสตรวจพบก้อนเนื้อขนาดเล็กได้เร็วขึ้น ถึงแม้การจะคลำเจอก้อนเนื้อขนาดเล็กนั้นเป็นการคลำที่ค่อนข้างยาก และมักจะคลำพบก็ต่อเมื่อก้อนเนื้อนั้นค่อนข้างใหญ่แล้ว แต่ก็ดีกว่าไม่ตรวจคลำด้วยตนเองเลย เพราะหากตรวจพบได้เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้มากขึ้นเท่านั้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม...ควรตรวจบ่อยแค่ไหน?

  • ตรวจเต้านมด้วยตนเอง อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อมีอายุ 20 ปี ขึ้นไป
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจทุก 3 ปี และหลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี
  • การทำแมมโมแกรมหรืออัลตร้าซาวนด์ ในช่วงอายุ 35- 40 ปีอย่างน้อยควรทำ 1 ครั้ง และเมื่อมีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ควรทำทุก 1-2 ปี เป็นประจำ

เริ่มตรวจเต้านมได้เมื่อไหร่?

  • ตรวจหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน
  • ควรตรวจเป็นประจำทุกเดือน
  • หากเป็นไปได้ควรตรวจวันเดียวกันของทุกเดือน ถ้าหากไม่มีประจำเดือนแล้ว

6 วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ใครๆ ก็ทำได้!

  • ยืนหน้ากระจก แล้วดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง แล้วสังเกตว่า ขนาด รูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนมเป็นอย่างไร และควรเทียบการเปลี่ยนแปลงกับเดือนก่อน
  • หลังจากนั้นให้ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ค่อยๆ หมุนตัวช้าๆ เพื่อที่จะดูบริเวณด้านข้างของเต้านม
  • ใช้มือเท้าเอว จากนั้นโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง
  • ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบาๆ ดูว่ามีเลือด หนอง หรือน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่
  • เริ่มคลำเต้านม โดยให้คลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางทั้ง 3 นิ้ว ค่อยๆ กดลงบนผิวหนังเบาๆ และกดแรงขึ้น จนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครงคลำเต้านมให้ทั่วทิศทาง การคลำทำได้หลายแบบ สิ่งที่สำคัญคือต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน
  • เมื่อเสร็จการคลำในท่ายืนแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นคลำในท่านอน โดยใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำ แล้วคลำซ้ำในลักษณะเดียวกันกับท่ายืน

หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์

  • คลำเจอก้อนที่เต้านมหรือรักแร้
  • มีอาการเจ็บหรือปวดบริเวณเต้านม
  • มีเลือดหรือหนองไหลมาจากหัวนม
  • รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนแปลงไป มีรอยบุ๋มแผล
  • มีก้อนเนื้อเต้านมที่หนาผิดปกติ
  • ผิวหนังเต้านมบางหรือหนาผิดปกติ
เพราะมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ไม่แสดงอาการให้เห็นตั้งแต่แรกเริ่ม การตรวจเต้านมด้วยตนเองจะช่วยสังเกตความผิดปกติได้ก่อนที่จะมีอาการแสดงซึ่งอาจจะสายเกินไป การตรวจถือเป็นการช่วยคัดกรองโรคได้ในระดับหนึ่ง แต่การตรวจด้วยตนเองนั้นย่อมทำได้ไม่ละเอียดพอเหมือนกับที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจให้ หรือการใช้เครื่องมือพิเศษในการตรวจอย่างดิจิตอลแมมโมแกรม และการอัลตร้าซาวนด์เต้านม ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงควรหาโอกาสเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างสม่ำเสมอ ปรึกษาแพทย์ออนไลน์