ผ่าตัดมดลูก...ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
โรงพยาบาลเปาโล
30-ก.ค.-2562
แม้การผ่าตัดมดลูกจะสร้างความกังวลเรื่องความเจ็บปวด แผล หรือภาวะแทรกซ้อนอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยเทคนิคใหม่ๆ อาจช่วยลดความกังวลเหล่านี้ได้ การผ่าตัดมดลูกหรือการนำมดลูกออกไป เพราะต้องรักษาโรคหรือการเกิดภาวะผิดปกติรุนแรงที่มดลูกนั้น ไม่เพียงส่งผลให้คนไข้กังวลเรื่องที่ไม่สามารถมีลูกได้อีก แต่ยังความเจ็บปวดจากการผ่าตัด แถมผลข้างเคียงหรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนไข้เกิดความกลัวไม่น้อย แต่ด้วยวิวัฒนาการทางการแพทย์ เทคนิคการผ่าตัดมดลูกที่หลากหลาย... จึงทำให้การผ่าตัดรักษาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด!

ผ่าตัดมดลูก ใช้รักษาภาวะอันตรายอะไรบ้าง?

  • เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
  • เนื้องอกมดลูก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • ภาวะมดลูกหย่อน
  • พังผืดในมดลูก
  • มะเร็งปากมดลูกหรือมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับมดลูก
  • ภาวะตกเลือดหลังคลอด

มาพิจารณา “เลือกวิธีผ่าตัดมดลูก” จากข้อดีและข้อเสียเหล่านี้

1. การผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง

  • ข้อดี : แพทย์จะผ่าเปิดหน้าท้องเป็นแนวยาว ทำให้แพทย์สามารถขยายแผลและมองเห็นอวัยวะภายในของคนไข้ได้ชัดเจน
  • ข้อเสีย : แผลผ่าตัดมีขนาดใหญ่ ทำให้คนไข้มีอาการเจ็บปวดแผลหลังผ่าตัดมาก และมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย

2. การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องทางหน้าท้อง

  • ข้อดี : คนไข้รู้สึกเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง มีการเสียเลือดน้อยกว่า และคนไข้ฟื้นตัวได้เร็วกว่า
  • ข้อเสีย : แม้แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง แต่ก็ยังสามารถมองเห็นรอยแผลขนาดประมาณ 3-10 มิลลิเมตร จำนวน 3-4 แผล ทำให้คนไข้อาจกังวลเกี่ยวกับความสวยงามได้

3. การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องทางช่องคลอด

  • ข้อดี : เพราะเป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้องสอดผ่านทางช่องคลอด ทำให้การผ่าตัดวิธีนี้ไม่มีรอยแผลให้เห็น และคนไข้ยังฟื้นตัวได้เร็ว ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ
  • ข้อเสีย : การสอดกล้องผ่านทางช่องคลอด เป็นการสอดกล้องจากมุมล่างและมีความแคบมาก อาจทำให้แพทย์มองเห็นอวัยวะที่อยู่ภายในด้านบนไม่ชัดเจนเท่าการผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง ในการผ่าตัดผ่านทางช่องคลอดจึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดมดลูก

  • ปัญหาเกี่ยวกับช่องคลอด หลังผ่าตัดมดลูกคนไข้อาจมีตกขาวหรือเลือดไหลออกจากช่องคลอด แต่ปริมาณน้อยกว่าในช่วงมีประจำเดือน แต่หากเลือดที่ไหลออกมามีลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือตกขาวมีกลิ่นรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
  • ลำไส้ไม่ทำงาน ทำให้คนไข้มีอาการท้องผูกหลังผ่าตัด ซึ่งป้องกันได้ด้วยการดื่มน้ำสะอาดมากๆ และเน้นทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
  • กระเพาะปัสสาวะเสียหาย ไม่เพียงแค่ลำไส้ที่อาจได้รับผลกระทบ แต่กระเพาะปัสสาวะที่อยู่ใกล้เคียงกับมดลูกก็อาจได้รับความเสียหายด้วยเหมือนกัน ส่งผลให้คนไข้ปัสสาวะบ่อย หรือติดเชื้อในระบบขับถ่ายได้
  • ภาวะซึมเศร้า นอกจากด้านร่างกาย... คนไข้อาจได้รับผลข้างเคียงในด้านสภาพจิตใจ เพราะเกิดความวิตกกังวลที่ไม่สามารถมีลูกได้อีกต่อไป จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าในอนาคต
  • วัยทองก่อนเวลา ไม่ว่าจะผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไปแล้ว หรือผ่าตัดนำมดลูกออกแต่เหลือรังไข่ไว้ ท้ายที่สุดรังไข่ก็จะค่อยๆ เสื่อมและหยุดทำงาน เมื่อไม่มีการตกไข่และฮอร์โมนเพศหญิงลดลง ก็จะทำให้คนไข้มีอาการวัยทอง คือ ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง มีปัญหาการนอนหลับ หรืออารมณ์แปรปรวนได้
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์