ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจไม่ต้องกินยาปรับฮอร์โมนเสมอไปนะ!
โรงพยาบาลเปาโล
31-ก.ค.-2562
ประจำเดือนผิดปกติ น่าจะเป็นปัญหาระดับท็อปของผู้หญิง ไม่ว่าจะประจำเดือนมามาก ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หลายๆ คนก็เลือกรักษาด้วยการกินยาปรับฮอร์โมนเพื่อให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ซึ่งจริงๆ แล้ว สาเหตุของประจำเดือนมาไม่ปกติอาจเกิดได้จากหลายอย่าง และบางครั้ง... แค่ปรับพฤติกรรมก็ลดปัญหาเหล่านี้ได้แล้ว

ประจำเดือนแบบไหน..ที่เรียกว่า “ประจำเดือนไม่ปกติ”

    • ประจำเดือนมามาก
ประจำเดือนมามากที่เข้าข่ายว่า “ผิดปกติ” คือประจำเดือนที่มามากจนในระหว่างวันต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยครั้ง หรือเกือบแทบทุกชั่วโมง ประจำเดือนที่มาติดต่อกันนานมากกว่า 7 วัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามากนั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อ มีก้อนเนื้องอก อุ้งเชิงกรานอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล
    • ประจำเดือนมาน้อย
โดยปกติ ระยะเวลาในการมีประจำเดือนแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน การไหลของเลือดประจำเดือนเป็นหยดเพียงเล็กน้อย และมีลักษณะประจำเดือนแบบนี้บ่อยๆ ก็สันนิษฐานได้ว่า “ประจำเดือนมาน้อยผิดปกติ” ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การคุมกำเนิดที่มีผลต่อการตกไข่ ภาวะถุงน้ำ PCOS เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคไทรอยด์ น้ำหนักตัวน้อยเกินไป หรือการมีภาวะเครียดสะสม
    • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
ช่วงระยะห่างของการมีประจำเดือนในแต่ละครั้ง มักอยู่ที่ 21-35 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ระยะห่างรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือประจำเดือนขาด คือ 2-3 เดือนมาสักครั้ง มาแบบกะปริดกะปรอย อาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก โรคเกี่ยวกับถุงน้ำรังไข่ ระดับฮอร์โมนขาดความสมดุล ซึ่งมักพบในคนที่มีภาวะเครียดหรืออ้วนมากๆ

ประจำเดือนมาไม่ปกติ ต้องกินยาปรับฮอร์โมนไหมนะ

ด้วยสาเหตุของประจำเดือนมาไม่ปกตินั้นมีได้หลายอย่าง โดยแบ่งออกเป็นสาเหตุใหญ่ๆ คือ จากฮอร์โมนผิดปกติ กับมีรอยโรคแอบแฝง เพราะฉะนั้น... ถ้าสังเกตเห็นว่าประจำเดือนมีสัญญาณเตือนที่ไม่ปกติเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจวินิจฉัย เพราะหากตรวจพบรอยโรคจะได้เริ่มขั้นตอนการรักษาก่อนลุกลาม หรือหากตรวจพบว่าเกิดจากระดับฮอร์โมนไม่สมดุล ในบางรายแพทย์อาจรักษาโดยการใช้ยาปรับฮอร์โมน แต่ในบางราย... เพียงแค่ปรับพฤติกรรมก็สามารถแก้ไขปัญหาประจำเดือนไม่ปกติได้แล้ว

ปรับพฤติกรรมเพื่อรักษาสมดุลของฮอร์โมนด้วยวิธีนี้

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายหนักหรือต้องใช้แรงมากเกินไปก็ส่งผลต่อความผิดปกติของประจำเดือนได้ แนะนำเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ควบคู่ไปกับสร้างกล้ามเนื้อครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ
  • กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกกินไขมันประเภทไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า หรือวอลนัท และเลือกกินโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดมัน ควบคู่กับการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง อย่างผัก ผลไม้ หรือโฮลเกรน
  • เครียดให้น้อย หัวเราะให้มาก เพราะทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนแปรปรวน
  • ให้ความสำคัญกับการนอน ไม่ใช่แค่นับจำนวนชั่วโมงการนอนให้เพียงพอ แต่ควรปรับเวลาการนอนใหม่ เป็นเข้านอนราว 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า หรือตื่นเร็วกว่านี้ได้ถ้ารู้ว่านอนเต็มอิ่ม ไม่มีอาการง่วงหรือเพลียระหว่างวัน
  • ควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ น้ำหนักตัวที่น้อยไปก็จะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่มีความจำเป็นในกระบวนการตกไข่ ส่วนน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้ และที่สำคัญ “ไม่ควร” อดอาหารเพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
ปรึกษาแพทย์ออนไลน์