-

นายแพทย์อาจ พรวรนันท์

แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรมทั่วไป

วุฒิบัตร

อายุรกรรมทั่วไป
วัน เวลา
จันทร์ 08:00 - 20:00
อังคาร 08:00 - 15:00
พุธ 07:00 - 15:00
พฤหัสบดี 08:00 - 16:00
อาทิตย์ 07:00 - 20:00

นพ.อาจ พรวรนันท์

อายุรแพทย์
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • อายุรกรรม โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์

"อายุรแพทย์เหมือนเป็นแพทย์ด่านหน้า เราจึงต้องวินิจฉัยโรคแยกโรคให้ได้ เช่น ถ้าคนไข้เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจ ก็ต้องดูว่าเส้นเลือดหัวใจตีบไหม เป็นอะไรแน่ และเป็นหนักแค่ไหน หรือบางคนมาด้วยอาการปวดท้อง ก็ต้องดูว่าปวดท้องแบบไหน จะเป็นโรคกระเพาะ เป็นนิ่ว หรือเป็นอย่างอื่นไปเลย การซักประวัติ การตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือการต้องส่งตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษก็เพื่อการวินิจฉัยโรคได้อย่างตรงจุด ส่วนหมอจะรักษาเองหรือส่งต่อแพทย์เฉพาะทางก็ต้องพิจารณาให้ตรงโรคเช่นกัน"

หลังจาก นพ.อาจ พรวรนันท์ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แล้ว คุณหมอได้ไปเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ 3 ปี จึงได้ศึกษาต่อวุฒิบัตรอายุรกรรม ที่โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ ซึ่งคุณหมอเล่าว่า...

"เหตุที่หมอสนใจด้านอายุรกรรม เพราะหมอเป็นคนชอบอ่าน ชอบวิเคราะห์ และชอบศึกษาในแนวกว้างหลายๆ โรค สาขานี้เราจะดูโรคทั่วๆ ไป ดูทุกอย่างตั้งแต่คนไข้เดินเข้ามา และเป็นสาขาที่เกี่ยวกับการใช้ยารักษาเป็นหลักโดยจะไม่มีการผ่าตัด ส่วนใหญ่แผนกอายุรกรรมเราก็จะเจอกับโรคทุกอย่าง ตั้งแต่ปวดหัว เป็นไข้ เป็นหวัด ท้องเสีย รวมไปถึงคนสูงอายุที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง คือทุกอย่างก็จะมาเจอเราก่อนเป็นด่านแรก ถ้าคนไข้เป็นโรคที่รักษาด้วยยาในหมวดของอายุรกรรมหมอก็จะรักษาเอง แต่ถ้าเป็นโรคที่ซับซ้อนรุนแรงหรือต้องผ่าตัด ก็จะส่งต่อให้กับแพทย์เฉพาะทางด้านนั้นๆ ดูแลต่อ หรือร่วมกันดูแลก็แล้วแต่กรณี"

อายุรกรรม รักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรม

โรคที่พบและรักษาบ่อยๆ ในอายุรกรรมก็แบ่งได้เป็นโรคตามฤดูกาล เช่น ไข้หวัด กับโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและอายุที่มากขึ้น อย่างเช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การรักษาก็จะต้องรักษาแบบต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันที่ รพ.เปาโล สมุทรปราการ ก็มีบริการปรึกษาแพทย์ผ่านระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) บริการเจาะเลือดถึงบ้านผู้ป่วย ทำให้คุณหมอสามารถดูผลเลือด และซักถามอาการทางโทรศัพท์ได้ หากจำเป็นต้องทานยา ก็มีบริการส่งยาไปให้ถึงบ้านอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็เพื่อบริการคนไข้ที่ไม่สะดวกมาโรงพยาบาล อย่างเช่น คนไข้สูงอายุ หรือคนไข้ที่ต้องระวังเรื่องโรคระบาด (COVID-19) ...

"หมอจะดูแลคนไข้ให้เหมือนกับดูแลคนในครอบครัว อยากให้คนไข้ได้หายดีแบบที่มาหาหมอน้อยลง หรือไม่ต้องมาหาหมอแล้วก็ยิ่งดี การใช้ยาจะใช้เท่าที่จำเป็น โดยเน้นให้คนไข้ปรับพฤติกรรมสุขภาพ คุมอาหาร ออกกำลังกาย โดยหมอจะวิเคราะห์และหาแนวทางที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนไข้ ให้ปรับพฤติกรรมให้ได้มากที่สุด และชี้ให้เห็นว่าหากยังควบคุมเบาหวานหรือความดันได้ไม่ดีอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา อย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองตีบ ซึ่งหากปล่อยให้ถึงตอนนั้นก็จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และยากต่อการรักษา"

ในกรณีคนไข้ที่มาด้วยอาการหนัก คือเข้ามาในแผนกฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน โรคเส้นเลือดสมองตีบเฉียบพลัน คุณหมออาจ ก็จะร่วมดูแลกับแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงการดูแลคนไข้หนักในแผนกคนไข้วิกฤต (ICU) และคนไข้ที่แอดมิททั่วไปด้วย...

"คนไข้ฉุกเฉิน ความสำคัญคือต้องวินิจฉัยให้เร็ว เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องทันที เพราะยิ่งรักษาได้เร็วคนไข้ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตแบบเป็นปกติได้มากขึ้น และการที่สมองหรือหัวใจเสียหายน้อย ก็จะไม่พิการ ไม่ทุพพลภาพ และฟื้นฟูได้ง่ายกว่า"

แพทย์ผู้สร้างความเข้าใจในการดูแลสุขภาพให้กับคนไข้

การดูแลสุขภาพตัวเองนั้นสำคัญที่สุด ดูแลเรื่องอาหาร เลี่ยงหวานเค็มมันที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเป็นโรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคหัวใจ หมั่นออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละครึ่งชั่วโมง จะเป็นการป้องกันโรคทางอายุรกรรมได้ดี

การรักษาโรคทางอายุรกรรมส่วนใหญ่ คือการกินยาและปรับพฤติกรรมสุขภาพ แต่คนไข้ส่วนหนึ่งมักกังวลในเรื่องของการกินยา คือไม่อยากกินยาเพราะกล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ซึ่งคุณหมอบอกว่า...

"การรักษาโรค หมอต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดูแลคนไข้แต่ละคนที่ไม่เหมือนกันโรคเบาหวาน ความดัน หากเราคุมได้ด้วยตัวเอง ออกกำลังกาย ปรับพฤติกรรม ลดน้ำหนักได้ นั่นคือดีที่สุด แต่ถ้าเกิดว่าถึงจุดหนึ่งที่เราคุมไม่ไหว เราก็ต้องใช้ยาเข้าช่วย เพราะหากปล่อยให้น้ำตาลสูงนานๆ ความดันสูงนานๆ สุดท้ายก็คือ ไตวาย หัวใจวาย นั่นคือจะแย่กว่า บางคนไปซื้อยาสมุนไพรกินเอง พวกยาลูกกลอน ยาหม้อต่างๆ หรือยาแคปซูลที่โฆษณากัน ก็จะเจอว่าค่าไตขึ้น ไตวาย ดังนั้นการกินยาใดๆ ก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะคนแต่ละคนก็ตอบสนองกับยาแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน"

นอกจากการดูแลรักษาคนไข้แล้ว คุณหมอยังพิจารณามองหาสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ในด้านเครื่องมือ การตรวจ รวมถึงการนำยาชนิดใหม่ๆ มาใช้ในการรักษา ทั้งนี้ก็เพื่อผลการรักษาที่ดียิ่งๆ ขึ้นไปนั่นเอง