-
โรค NCDs...ภัยเงียบที่เกิดจากพฤติกรรมของเรา
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
05-มี.ค.-2567

โรค NCDs...ภัยเงียบที่เกิดจากพฤติกรรมของเรา

กลุ่มโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคที่คร่าชีวิตประชากรโลกมากกว่าสาเหตุการตายอื่นๆ และยังมีแนวโน้มที่มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นในทุกปี ซึ่งกลุ่มโรค NCDs นี้มักพบมากในกลุ่มวัยทำงาน ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การเกิดโรค

 


ทำความรู้จักโรค “NCDs”

NCDs หรือ Non-communicable diseases เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ กลุ่มโรค NCDs บางครั้งเรียกว่า “โรคที่สร้างขึ้นมาเอง” เนื่องจากกลุ่มโรคนี้เดจากการใช้ชีวิตหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง หรือที่เราเคยได้ยินว่า “กลุ่มโรคเรื้อรัง” ซึ่งหมายถึงโรคที่เกิดต่อเนื่องอย่างยาวนาน และมีการดำเนินของโรคไปอย่างช้าๆ แตกต่างจากโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ที่มีการดำเนินโรคอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษอย่างถูกต้องและทันเวลากลุ่มโรคเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตได้ โดยกลุ่มโรค NCDs ที่สำคัญ ประกอบด้วย

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ
  • โรคถุงลมโป่งพอง
  • โรคมะเร็ง
  • โรคอ้วนลงพุง

 

ต้นเหตุของโรค NCDs หนีไม่พ้นพฤติกรรมของเรา

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs คือวัยทำงาน ซึ่งมีโอกาสที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี เนื่องจากการดำเนินโรคที่ช้า เมื่ออาการของกลุ่มโรค NCDs แสดงออกมา อาจถึงหมายโรคนั้นอยู่ในระยะเรื้อรังที่อาจยากต่อการรักษาไปแล้ว โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของกลุ่มโรคนี้มักเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ได้แก่

  • การขยับร่างกายน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย
  • รับประทานอาหารที่มีรสชาติ หวานหรือเค็มจัด รวมถึงอาหารที่มันจัดด้วย
  • รับประทานผักผลไม้น้อย
  • ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • มีภาวะเครียด
  • มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐาน

 

แนวทางการรักษาโรค NCDs

การรักษากลุ่มโรค NCDs จำเป็นต้องรักษาตามอาการของโรคที่เกิดขึ้นและควรได้รับการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งโรคในแต่ละโรคที่อยู่ในกลุ่มโรค NCDs ก็จะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้นหากทราบหรือสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อกลุ่มโรค NCDs ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและวิธีการปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากโรคที่สุ่มเสี่ยง

 


ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพิ่มภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรค NCDs

จะเห็นได้ว่ากลุ่มโรค NCDs มักมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันเป็นส่วนใหญ่ วิธีที่ดีที่สุดจึงเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเหล่านี้ ซึ่งการป้องกันที่ดีที่ดีสุดคือการดูแลรักษาร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ สามารถทำได้โดย...

  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ควบคุมพฤติกรรมการกิน เช่น ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือทานผักผลไม้ให้มากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • หากิจกรรมที่เสริมสร้างความสุขให้กับตนเอง

 

นอกจากนี้ การหมั่นตรวจสุขภาพร่างกายปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คสภาพร่างกาย หากพบรอยโรคหรือความสงสัยเกี่ยวกับโรคนั้นๆ ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn