โรคเครียด...ปัญหาสะสมที่อาจหมักหมมไม่รู้ตัว!
“โรคเครียด” ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจหรืออารมณ์เพียงอย่างเดียว แต่โรคเครียดสามารถทำให้เกิดความผิดปกติทางด้านร่างกายได้ และหากปล่อยไว้ให้เกิดความเครียดสะสม อาจทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง ส่งผลให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
เช็คด่วน!...หากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นโรคเครียดไม่รู้ตัว
- มีความวิตกกังวลตลอดเวลา โดยไม่สามารถควบคุมความกังวลได้
- รู้สึกหงุดหงิด โมโหง่าย หรือเหวี่ยงวีนใส่คนใกล้ตัวโดยไม่รู้ตัว
- รู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิต ไม่มีชีวิตชีวา
- นอนไม่หลับ นอนหลับไม่สนิท ตื่นกลางดึกทำให้หลับต่อได้ยาก นอนฝันร้าย หรือมีความหวาดกลัวที่จะนอนไม่หลับ
- มีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องผูก หรือท้องเสีย โดยอาการเหล่านี้มักเป็นโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีความต้องการทางเพศลดลง
- ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ลังเล ทำให้นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด
- แยกตัวออกจากสังคม ไม่อยากพบปะกับผู้อื่น หรือรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องพบปะกับผู้คน
- สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่อยู่แล้ว เมื่อเครียดแล้วอาจทำให้อยากดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มากขึ้น
หากมีอาการเหล่านี้ 2-3 อย่างขึ้นไป คุณอาจกำลังเผชิญหน้ากับโรคเครียดโดยไม่รู้ตัว หากปล่อยไว้ในบางรายอาจเกิดอาการเครียดสะสม ทำให้มีความคิดว่าอยากจบชีวิตตนเองในที่สุด จนกลัวว่าอาจไม่สามารถควบคุมได้
รักษาโรคเครียดได้...แค่ต้องแก้ที่ต้นเหตุ
หากคุณสังเกตอาการหรือสงสัยว่าตนเองอาจกำลังเผชิญกับโรคเครียดอยู่ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพื่อหยุดโรคเครียดไม่ให้รุนแรงไปกว่าเดิม โดยการรักษาสามารถทำได้วิธีขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ของการเกิดความเครียด
- การรักษาด้วยยา : โดยแพทย์จะให้ยาเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ จากความเครียดที่เกิดขึ้น เช่น ยาคลายเครียด ยาลดความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า เพื่อให้อาการเครียดลดลงและพักผ่อนได้ดีขึ้น หรืออาจให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร ยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
- การรักษาโดยไม่ใช้ยา : สิ่งสำคัญในการรักษาโรคเครียดคือต้องหาสาเหตุและขจัดปัญหาเหล่านั้น รวมถึงการทำจิตบำบัด ซึ่งจะได้พูดคุยและปรึกษากับนักจิตบำบัดหรือนักกิจกรรม ก็สามารถช่วยคุณจัดการกับความเครียดได้
เมื่อมีอาการเครียดเราควรจัดการกับความเครียดอย่างไรดี?
- หากิจกรรมที่ช่วยให้ตัวเองผ่อนคลายหรือกิจกรรมที่เติมความสุขให้ตนเอง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ออกกำลังกาย ออกไปเที่ยว หรือสังสรรค์กับเพื่อน
- พยายามมองโลกในแง่บวก ปรับทัศนคติหรือความคิดให้ไม่จมกับปัญหานั้นๆ และเลือกที่จะวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแทน
- ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวใหม่ เช่น จัดบ้านใหม่ จัดโต๊ะทำงาน หรือเก็บกวาดและจัดระเบียบสิ่งของต่างๆ ให้เรียบร้อยขึ้น
- ตั้งเป้าหมายให้ตนเอง เช่น สมัครวิ่งมาราธอน หรือสร้างสรรค์งานศิลปะ เนื่องจากการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนให้กับตนเองจะสามารถสร้างความท้าทาย ลดความเครียด และทำให้สมองไม่คิดถึงสิ่งที่ทำให้เครียด
- พบปะกับเพื่อนฝูงหรือใช้เวลากับครอบครัว เพราะการที่เราได้พูดคุยหรือปรึกษาปัญหาที่กำลังรุมเร้าเราอยู่นั้น สามารถลดความเครียดลดได้
นอกจากนี้ การเข้าพบกับจิตแพทย์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถบรรเทาความเครียด เนื่องจากจิตแพทย์จะให้คำปรึกษาและบำบัดให้เราอย่างถูกต้อง
หากคุณรู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล การมาพบจิตแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ปัญหาของคุณที่กำลังเผชิญอยู่ได้รับการแก้ไข หลายคนมักเข้าใจว่าการไปพบจิตแพทย์ คือคนที่มีภาวะจิตไม่ปกติ แต่แท้จริงแล้ว การไปพบแพทย์คือทางออกที่ดีที่สุดที่สามารถช่วยให้ปัญหานั้นเล็กลงได้
บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn