-
ไซนัสอักเสบ...โรคยอดฮิตในวัยทำงานที่อันตรายกว่าที่คิด
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
06-ธ.ค.-2566

ไซนัสอักเสบ...โรคยอดฮิตในวัยทำงานที่อันตรายกว่าที่คิด

หลายคนอาจเคยมีอาการคัดจมูกไม่หาย มีน้ำมูกข้น หรือไอแบบมีเสมหะ แต่คิดว่าเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา จนเมื่อไปพบแพทย์จึงรู้ว่าเป็นไซนัสอักเสบ ดังนั้น ใครก็ตามที่มีอาการดังกล่าวไม่ควรปล่อยไว้นาน ให้รีบไปพบแพทย์จะดีกว่า เพราะการไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้

 

ทำความรู้จักกับ “โรคไซนัสอักเสบ”

โรคไซนัสอักเสบ เป็นการอักเสบและติดเชื้อบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยโรคไซนัสอักเสบจะมีอยู่ 3 ประเภทหลัก ดังนี้

  • โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน จะมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์
  • โรคไซนัสอักเสบชนิดกึ่งเฉียบพลัน จะมีอาการตั้งแต่ 4 ถึง 12 สัปดาห์
  • โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ จะมีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการแบบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะๆ ได้

 


โรคไซนัสอักเสบมีอาการอย่างไร?

  • คัดจมูก หรือมีน้ำมูกข้นเหนียว
  • มีเสมหะข้น
  • ปวดแน่นบริเวณใบหน้า
  • หายใจมีกลิ่น
  • หากเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันอาจมีไข้ร่วมด้วย

นอกจากนี้อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ปวดหู ปวดฟัน และไอ เป็นต้น

 

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ

การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ แพทย์จะอาศัยการพิจารณาจากประวัติและอาการแสดงทางคลินิกเป็นหลัก อาจจำเป็นต้องทำการถ่ายภาพรังสีหรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในบางรายที่แพทย์สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อน หรือทำการส่งเพาะเชื้อเพื่อการให้ยาต้านจุลชีพหรือสงสัยเชื้อที่ดื้อยา

 


การรักษาโรคไซนัสอักเสบ

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ มักรักษาตามสาเหตุว่าเกิดจากการเชื้อประเภทใด ดังนี้

  1. ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด หรือให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก
  2. ไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะประมาณ 10-14 วัน โดยชนิดของยาจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงต่อการดื้อยาในแต่ละราย ดังนั้นควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อยากินเอง
  3. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มักไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียอย่างเดียว จึงจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเพิ่มเติมเพื่อช่วยในการวินิจฉัย อาจให้ยาปฏิชีวนะโดยพิจารณาให้กับผู้ป่วยที่มีเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันซ้ำๆ และมักทำการส่งเพาะเชื้อต่อไป เพื่อการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม

 

โรคไซนัสอักเสบ...ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้!

โรคไซนัสอักเสบจะมีอาการหลักๆ ที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ด้วย เช่น

  • ทางตา : ตาบวม เจ็บตา กลอกลูกตาแล้วเจ็บ มองเห็นภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพซ้อน
  • ทางสมอง : ปวดศีรษะ มีอาการคลื่นไส้ รวมถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีไข้สูงร่วมด้วย และหากปล่อยไว้จนเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นในสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจทำให้ติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

 

หากพบว่ามีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไซนัสอักเสบ เช่น มีไข้สูงร่วมกับน้ำมูกข้น มีอาการปวดใบหน้าติดต่อกันเกิน 3-4 วันตั้งแต่เริ่มป่วย เป็นไข้หวัดที่อาการไม่ดีขึ้นนานเกินกว่า 10 วัน รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามที่กล่าวมา ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างตรงจุด เพราะไซนัสอักเสบเป็นภาวะติดเชื้ออย่างหนึ่ง ที่หากปล่อยไว้อาจเกิดการลุกลามรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

บทความโดย
นายแพทย์พิทยา กนกจรรยา
แพทย์ประจำสาขาโสต ศอ นาสิก
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนกหู ตา คอ จมูก
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2540-2541
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn