-
"มะเร็งปอด" ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
04-เม.ย.-2566

"มะเร็งปอด" ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

มะเร็งปอด หนึ่งในชนิดมะเร็งที่พบบ่อย ทั้งยังเป็นมะเร็งที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศไทย เพราะโดยส่วนมากผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดจะไม่ค่อยมีอาการแสดงในระยะแรก คือกว่าจะมีสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเกิดโรคจนผู้ป่วยไปพบแพทย์ ก็มักอยู่ในช่วงที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งมากแล้ว ทำให้มาตรวจพบช้าเกินไปที่จะรักษาให้หายขาดได้

อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่ต้องตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ดังนั้นการตรวจสุขภาพปอดและคัดกรองโรคมะเร็งปอดจึงเป็นเหมือนหัวใจสำคัญในการหยุดยั้งโรคนี้

 

สาเหตุของการเกิดโรค “มะเร็งปอด” มีอะไรบ้าง?

มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนเซลล์ที่ผิดปกติ โดยมะเร็งปอดจะแบ่งประเภทตามชนิดของเซลล์มะเร็งออกเป็น 2 ชนิด คือ

มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) เป็นเซลล์ที่เจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว พบได้ประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยมะเร็งปอด

มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer) เป็นเซลล์ที่แพร่กระจายได้ช้ากว่า และมีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก พบได้ประมาณ 85-90% ของผู้ป่วยมะเร็งปอด

 


ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด

ปัจจัยที่ทำให้เซลล์เกิดความผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็งปอดมีหลายประการ ดังนี้

  1. การสูบบุหรี่ : เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด และมะเร็งชนิดอื่นๆ โดยควันบุหรี่สามารถทำให้เซลล์กลายพันธุ์จนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 10 เท่า
  2. การสัมผัสกับสารที่ก่อมะเร็ง : การสัมผัสและรับสารพิษที่อาจทำให้เป็นมะเร็งเข้าสู่ร่างกาย เช่น ควันจากท่อไอเสีย ฝุ่น PM 2.5 หรือสารเคมีบางชนิด อย่างโครเมียม แร่ใยหิน ก๊าซเรดอน นิกเกิล ยูเรเนียม และโลหะอื่นๆ
  3. ผู้ที่เคยเป็นโรคเกี่ยวกับปอด : เช่น เคยมีรอยแผลเป็นจากโรคทางปอด อย่างวัณโรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง ก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งปอดสูงกว่าคนทั่วไป
  4. พันธุกรรม : ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งปอดจะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น

 

สัญญาณอันตรายเมื่อมะเร็งปอดลุกลาม

มะเร็งปอดในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ ต่อเมื่อมะเร็งได้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ แล้ว อาการจึงค่อยๆ ปรากฏ โดยสัญญาณเตือนเมื่อมะเร็งเริ่มลุกลามสามารถสังเกตอาการได้ดังนี้

  1. ไอเรื้อรัง ไอแห้ง ไอมีเสมหะ หรือไอพร้อมมีเลือดปนออกมา
  2. มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจสั้น หายใจถี่ และหายใจดังหรือมีเสียงหวีด
  3. รู้สึกเจ็บหน้าอกตลอดเวลา
  4. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย อ่อนแรง หรือรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา
  5. มีโทนเสียงที่เปลี่ยนไป เช่น เสียงแหบ หรือเสียงเปลี่ยน
  6. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้อาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปอด แต่ไม่ใช่โรคมะเร็งปอดก็ได้ ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าว หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด

 


ตรวจหามะเร็งปอดด้วย LOW-DOSE CT-SCAN ดีอย่างไร?

ปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปอดสามาถทำได้ด้วย การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำ (LOW-DOSE CT-SCAN หรือ Low-Dose Computed Tomography, LDCT) โดยการตรวจด้วยวิธีนี้ เป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอกด้วยปริมาณรังสีต่ำ ซึ่งจะให้ภาพบริเวณปอดออกมาเป็น 3 มิติที่มีรายละเอียดสูง จึงสามารถตรวจพบจุดเล็กๆ หรือก้อนในปอดได้ดีกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดาแบบเดิม ทำให้ค้นหามะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นได้ดีกว่า ทั้งยังเป็นการตรวจที่ง่าย ใช้เวลาไม่นาน ผลข้างเคียงน้อย มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย

 

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรคมะเร็ง แต่โรคมะเร็งปอดนั้น หากตรวจพบเร็วและรีบรักษา โอกาสหายก็จะมีมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับการพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการใดๆ

บทความโดย
นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn