ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง...เกี่ยวข้องกับโรคใดบ้าง?
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย (Immune System) คือระบบที่ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และปรสิต รวมถึงสิ่งแปลกปลอมหรือความผิดปกติอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งยิ่งในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันสูงก็จะส่งผลให้ไม่เจ็บป่วยง่าย หรือเกิดโรคได้ยากกว่าคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ และยิ่งในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำจนเกิดวามผิดปกติอยู่บ่อยครั้ง นั่นอาจแสดงถึงภาวะที่เรียกว่า “ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง”
ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง คือ?
ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Immunodeficiency) เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่เต็มที่เนื่องจากเกิดความผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหรือโรคต่างๆ หรืออาจทำให้การรักษาโรคเป็นไปได้ยากกว่า โดยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องแรกเริ่ม (Primary Immunodeficiency) : เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อาจเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องภายหลัง (Secondary Immunodeficiency) : เป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ได้เกิดความผิดปกติโดยกำเนิด หากแต่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อไวรัส HIV หรือการใช้ยากดภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคต่างๆ เช่น การปลูกถ่ายอวัยวะ หรือการรักษาด้วยเคมีบำบัด เป็นต้น
สังเกตอย่างไร? ว่าตนเองเข้าข่ายภูมิคุ้มกันบกพร่อง!
- มีการติดเชื้อบ่อยครั้ง
- เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงหรือยากต่อการรักษา เช่น เกิดการติดเชื้อ HIV
- มีโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอดส์ (AIDS)
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นภูมิคุ้มกันบกพร่อง
มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง...เสี่ยงโรคใดบ้าง?
เมื่อระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายจะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อและโรคต่างๆ ซึ่งสามารถทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย อีกทั้งการรักษาก็อาจเป็นไปได้ยากกว่าที่ควร โดยโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่
- เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย :
- ปอดบวม
- การติดเชื้อในหู (otitis media)
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (urinary tract infections)
- การติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis)
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง
- การติดเชื้อในปอด
- การติดเชื้อวัณโรคและวัณโรคเทียม
- การติดเชื้อไวรัส :
- ไข้หวัดใหญ่
- ไข้หวัดทั่วไป
- การติดเชื้อไวรัสเริม (herpes simplex)
- ไวรัสตับอักเสบ (hepatitis)
- การติดเชื้อรา :
- การติดเชื้อราในปาก (oral thrush)
- การติดเชื้อราในผิวหนัง (dermatophytosis)
- การติดเชื้อราในปอด (aspergillosis)
- การติดเชื้อโปรโตซัวและปรสิต :
- การติดเชื้อพยาธิในลำไส้ (giardiasis)
- การติดเชื้อพยาธิในเลือด (malaria)
- การติดเชื้อโปรโตซัวในระบบทางเดินอาหาร (cryptosporidiosis)
- โรคออโตอิมมูน :
- ระบบภูมิคุ้มกันอาจโจมตีเนื้อเยื่อร่างกายเอง ทำให้เกิดโรคออโตอิมมูน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โรคแพ้ภูมิตนเอง (autoimmune diseases)”
- โรคมะเร็ง :
- ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง (skin cancer), มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma)
ดังนั้น การดูแลตนเองให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นแนวทางที่สามารถป้องกันให้เราห่างไกลกับภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องได้ รวมถึงการหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำก็มีส่วนช่วยให้เรารู้ถึงความแข็งแรงของร่างกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคในอนาคต ให้กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นได้
บทความโดย
นายแพทย์สิทธิโชค หทัยสงวน
แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดี ๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn