-
ตรวจรักษาภาวะ “มีลูกยาก” ไม่ลำบากอย่างที่คิด
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
28-มิ.ย.-2566

ตรวจรักษาภาวะ “มีลูกยาก” ไม่ลำบากอย่างที่คิด

หนึ่งในความวิตกกังวลของชีวิตคู่ คงหนีไม่พ้นปัญหาการมีลูกยาก ที่หลายคู่ได้ใช้ความพยายามอยู่เป็นปีแต่ก็ยังไม่ตั้งครรภ์เสียที บางคู่จึงคิดไปว่า... หรือพวกเขามีปัญหาทางด้านสุขภาพที่ทำให้มีลูกไม่ได้? วันนี้ โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ จึงมาให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจในสาเหตุ และแนวทางในการแก้ปัญหา อันจะนำไปสู่การตั้งครรภ์ได้ดั่งใจหวัง

 


รู้ได้อย่างไรว่า...มีลูกยาก

การมีลูกยาก (Infertility) เป็นภาวะที่คู่ชาย-หญิงไม่สามารถมีบุตรได้หลังมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีการคุมกำเนิดใดๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี แต่สำหรับในคู่ที่ฝ่ายหญิงมีอายุ 35 ปีขึ้นไป จะถือว่าเป็นผู้มีลูกยาก เมื่อมีเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอโดยไม่มีการคุมกำเนิดใดๆ เป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ตั้งครรภ์ ซึ่งการมีลูกยากพบได้ประมาณ 10-15% ของคู่ชาย-หญิงที่ต้องการจะมีบุตร

 

มีลูกยาก มีสาเหตุมาจากอะไร?

สาเหตุของการมีลูกยาก เกิดได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดย

สาเหตุจากฝ่ายชาย : ส่วนใหญ่พบประมาณ 20-30% โดยอาจเกิดจากระบบสืบพันธุ์ของฝ่ายชาย ทั้งท่อนำเชื้อเกิดการตีบตัน หรือจากสเปิร์มของฝ่ายชายมีความผิดปกติ เช่น มีจำนวนสเปิร์มน้อย สเปิร์มมีการเคลื่อนไหวไม่ดีหรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ ฝ่ายชายมีประวัติต่อมลูกหมากอักเสบ หรือสภาวะร่างกาย ขณะนั้นมีความเครียดก็สามารถส่งผลต่อสเปิร์มได้ การบริโภคสิ่งที่มีผลต่อความแข็งแรงของสเปิร์ม อย่างการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การได้รับสารเคมีจากการสูบบุหรี่ รวมถึงการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การสัมผัสกับความร้อนเป็นระยะเวลานานๆ

สาเหตุจากฝ่ายหญิง : ส่วนใหญ่พบประมาณ 40-50% โดยอาจเกิดความผิดปกติของฮอร์โมนเพศหญิงที่มีผลต่อการตกไข่ หรือจากระบบสืบพันธุ์ที่ผิดปกติ เช่น ผนังมดลูกมีความผิดปกติ มีเนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือท่อนำไข่ตัน รวมถึงความเครียดที่มีผลให้อารมณ์ทางเพศของฝ่ายหญิงลดลง ส่งผลให้จำนวนครั้งของการมีเพศสัมพันธ์ลดน้อยลงด้วย

สาเหตุการมีลูกยากนั้นเกิดได้ทั้งจากฝ่ายใดฝ่ายเดียว หรือจากทั้ง 2 ฝ่ายเลยก็มี ส่วนในกรณีที่มีลูกยาก และทำการตรวจร่างกายแล้วแต่ยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริง เราจะเรียกภาวะนี้ว่าภาวะมีลูกยากแบบไม่ทราบสาเหตุ

 

ภาวะมีลูกยากแบบไม่ทราบสาเหตุ

เป็นภาวะที่คู่ชาย-หญิงที่ทำการตรวจหาสาเหตุในทุกกระบวนการแล้ว แต่ไม่พบสาเหตุที่ทำให้มีลูกยาก หรือไม่พบความผิดปกติใดๆ เลย ซึ่งกลุ่มนี้จะมีอยู่ประมาณ 5-10% ของผู้ที่มีภาวะมีลูกยาก หากเป็นเช่นนี้ จะต้องทำการตรวจหาสาเหตุแบบเจาะลึก หรืออาจทำการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์ต่อไป

 


รักษาอย่างไร?...หากมีลูกยาก

การรักษาภาวะมีลูกยาก จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ สภาพร่างกาย และปัญหาต่างๆ ที่มีร่วมด้วย โดยการรักษาในปัจจุบันมีอยู่หลายวิธี เช่น

  • หากมีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ในเพศหญิง สามารถทำการฉีดยาหรือรับประทานยาเพื่อกระตุ้นการตกไข่ได้
  • หากมีสาเหตุจากสเปิร์มของเพศชาย อาจรักษาโดยการให้ยา หรือใช้วิธีการเตรียมน้ำเชื้อ และทำการผสมเทียมหรือเด็กหลอดแก้วเข้าช่วย
  • หากพบความผิดปกติในโพรงมดลูก อาจทำการผ่าตัดเพื่อแก้ไขปัญหาที่พบ ในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่ช่วยการเจริญพันธุ์ อย่างการฉีดอสุจิที่ผ่านการเตรียมเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) หรือการปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (IVF, ICSI)
  • และไม่ว่าจะรักษาด้วยวิธีใด แพทย์จะให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ รวมถึงการรับประทานอาหารหรือวิตามินที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงสารเสพติดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในระหว่างตั้งครรภ์ได้

 

ในปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษาภาวะมีลูกยากก้าวหน้าไปมาก ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสาเหตุ ปัญหาสุขภาพ และสภาพร่างกายของผู้เข้ารับการรักษาได้ หากรู้สึกว่าชีวิตคู่ของตนเองกำลังประสบปัญหาการมีลูกยาก การเข้ารับการตรวจและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นอกจากจะช่วยลดความวิตกกังวลแล้ว ยังสามารถตรวจเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษา ไม่ว่าจะด้วยการปรับพฤติกรรม การใช้ยา หรือใช้นวัตกรรมต่างๆ เข้าช่วย เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ได้

บทความโดย

แพทย์หญิงลูกหวาย คู่ธีรวงศ์

แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวช





สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โทร.02-3632-000 ต่อ 2201-2202
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn