ครรภ์เป็นพิษ...ภาวะที่คุณแม่ต้องระวัง
การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาวะร่างกาย และสภาวะจิตใจ และเตรียมพร้อมกับการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงเวลา ตลอด 9 เดือน ของการตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดแต่มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ต้องเสี่ยงกับภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” ซึ่งคุณแม่ 100 คนพบว่าเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษถึง 4 คน โดย 80% อาการจะไม่รุนแรง อีก 20% อาการจะรุนแรงมาก ซึ่งครรภ์เป็นพิษมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
ครรภ์เป็นพิษ
ครรภ์เป็นพิษ คือ ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงตั้งครรภ์ หรือช่วงหลังคลอด สาเหตุการเกิดครรภ์เป็นพิษนั้นยังไม่แน่ชัด โดยธรรมชาติรกจะฝังบริเวณเยื่อบุผนังมดลูก แต่ในกรณีที่แม่ครรภ์เป็นพิษรกจะฝังตัวได้ไม่แน่น ส่งผลให้รกบางส่วนเกิดการขาดออกซิเจน ขาดเลือด เมื่อเลือดไปเลี้ยงรกได้น้อยลงจะเกิดการหลั่งสารที่เป็นสารพิษเข้าสู่กระแสเลือดของแม่ทีละเล็กทีละน้อย
ผู้เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
• ผู้ที่ตั้งครรภ์แล้วมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี
• ผู้ที่มีโรคอ้วน เส้นเลือดไม่ค่อยดี มีโอกาสตีบได้ง่าย
• ผู้ที่มีบุตรยาก
• ผู้ที่ตั้งครรภ์เด็กมากกว่า 1 คน
• ผู้ที่มีกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวมีครรภ์เป็นพิษ
• ผู้ที่ตั้งครรภ์ครั้งแรก หรือ แฝด
ระดับความรุนแรง
แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่- ระดับไม่รุนแรง : คุณแม่จะมีความดันโลหิตสูง 140/90-160/110 มิลลิเมตร แต่ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ
- ระดับรุนแรง : คุณแม่จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรขึ้นไป และตรวจพบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ตับอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ ไตทำงานน้อยลง รวมถึงเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
- ระดับอันตราย : คุณแม่มีอาการชัก เกร็ง และหมดสติ ซึ่งในระยะนี้จะต้องได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุดเพราะอาจจะทำให้คุณแม่และลูกน้อยเสียชีวิตได้
การรักษา
การรักษามีเพียงวิธีเดียวคือการคลอด แพทย์จะทำการตรวจวัดตามความเหมาะสม เช่น ระยะเวลาตั้งครรภ์ ความแข็งแรงของคุณแม่ ความรุนแรงของอาการต่าง ๆ แพทย์จะพยายามคอยดูแลคุณแม่และลูกในครรภ์จนกว่าจะถึงระยะเวลาที่สมควร นอกจากนี้หากคุณแม่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์หรือมากกว่าจะสามารถผ่าคลอดหรือทำการเร่งคลอดทารกได้ทันที เมื่อคุณแม่คลอดทารกออกมาแล้ว คุณแม่จะเริ่มมีอาการดีขึ้นและหายจากภาวะดังกล่าวได้เอง
การป้องกัน
• นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อร่างกาย
• ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน
• ไม่ทานอาหารที่มีรสเค็มและไม่ดื่มแอลกอฮอล์
• ออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงได้ โดยปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ก่อน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร.02-3632-000 ต่อ 2201-2202
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn