ผู้สูงอายุควรรู้...ตรวจสุขภาพอย่างไรให้ไกลความเสี่ยง
เมื่ออายุมากขึ้น โรคต่างๆ ก็เริ่มถามหา ทั้งโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายตามกาลเวลา และความเจ็บป่วยต่างๆ ที่สะสมมาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวตั้งแต่ยังเด็ก การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรอง ป้องกัน และรักษาตั้งแต่อาการยังไม่มากจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพที่ดี ไม่เกิดความเจ็บป่วยโดยไม่จำเป็น เช่น โรคเหล่านี้ที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ
โรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ
- โรคเบาหวาน : คือโรคที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินเพื่อพาน้ำตาลที่ร่างกายได้รับไปใช้เป็นพลังงานได้ จนเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้น้ำตาลตกค้างอยู่ในร่างกาย จนกลายเป็นโรคเบาหวานในที่สุด ซึ่งน้ำตาลที่สะสมในกระแสเลือดและตามอวัยวะต่างๆ คือสาเหตุสำคัญในการทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา
- โรคความดันโลหิตสูง : เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด และมักไม่มีอาการแสดง แต่ในบางรายอาจมีอาการแสดงออกมาเล็กน้อย เช่น ปวดหัว มึนงง เหนื่อยง่ายกว่าปกติ หรือหน้ามืดเป็นลม
นอกจากนี้ โรคความดันยังเป็นต้นตอของการเกิดโรคต่างๆ อีกด้วย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ไตเสื่อม หรือไตวายเรื้อรัง
- โรคไขมันในเลือดสูง : คือภาวะที่คอเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ในเลือดสูง โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ การกินยาบางชนิด หรือพฤติกรรมที่ชอบกิินของทอดของมันเป็นประจำ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
- โรคไต : เกิดจากการทำงานของไตผิดปกติ หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกรองและขับของเสียลดลง ของเสียจึงตกค้างอยู่ในร่างกายมาก จนเกิดอาการตัวบวม ไตวายหรือไตล้มเหลวได้ โดยในช่วงระยะเริ่มแรกของโรคไตแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนให้ทราบได้ แต่อาการจะแสดงออกมาในช่วงระยะท้ายๆ หรือระยะเรื้อรัง เนื่องจากไตได้รับความเสียหายมากแล้ว ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นการรักษาก็จะทำได้ยาก
- โรคข้อเสื่อม : เกิดจากความเสื่อมสภาพของกระดูกบริเวณผิวข้อต่อที่ถูกทำลายลงอย่างช้าๆ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างข้อต่อ โดยสาเหตุหลักๆ ของโรคนี้ คืออายุที่มากขึ้น รวมถึงการใช้งานข้อต่ออย่างหนักเป็นเวลานาน เช่น ทำงานที่ต้องยกของหนัก การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การมีน้ำหนักตัวเกิน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ อาจทำให้ข้อต่อผิดรูป และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้
- โรคอัลไซเมอร์ : เกิดจากคราบเบต้า อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) และคราบเทา (Tau) ที่ฝังแน่นอยู่ในระบบประสาทของสมอง ปกติแล้วร่างกายจะสามารถชะล้างคราบเหล่านี้เองได้ แต่ปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งสภาพแวดล้อม พันธุกรรม หรือพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การนอนน้อย จะทำให้ประสิทธิภาพการชะล้างคราบลดลง จนพัฒนากลายเป็นโรคอัลไซเมอร์ บางรายอาจทำให้สมองเสียหายจนใช้งานต่อไม่ได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเองได้
ตรวจสุขภาพผู้สูงวัย ควรตรวจอะไรบ้าง?
- ตรวจร่างกายทั่วไป เช่น ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ตรวจชีพจรและวัดความดันโลหิต
- ตรวจปัสสาวะ โดยตรวจดูความใสและปริมาณเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และแท่งโปรตีนคาสท์ (Casts) ในปัสสาวะ เพื่อหาความผิดปกติของไต
- ตรวจอุจจาระ เป็นการตรวจดูพยาธิ และตรวจว่ามีเลือดปนมากับอุจจาระหรือไม่
- ตรวจความสมบูรณ์ของเลือด (CBC) ตรวจความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
- ตรวจระดับไขมันในเลือด ประกอบไปด้วยการตรวจวัดปริมาณ คอเลสเตอรอล (Cholesterol), ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride), ไขมันชนิดดี เอชดีแอล (HDL) และไขมันชนิดเลว แอลดีแอล (LDL)
- ตรวจน้ำตาลในเลือด (FBS) เป็นการประเมินว่ามีน้ำตาลในเลือดสูงเกินหรือไม่ เพื่อหาแนวโน้มการเป็นโรคเบาหวาน
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) เพื่อดูการทำงานของหัวใจและภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) ช่วยประเมินความแข็งแรงของหัวใจและร่างกายขณะออกกำลังกาย ใช้ประเมินความสามารถสูงสุดของหัวใจขณะออกกำลังกาย และคัดแยกโรคที่เกี่ยวกับอาการเหนื่อยง่ายว่ามาจากโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่
- ตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echo) ตรวจเพื่อวัดประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ
- การตรวจความหนาแน่นของกระดูก บริเวณกระดูกข้อมือ สะโพก และสันหลัง เพื่อคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงกระดูกหัก และกระดูกพรุนในอนาคต
- การตรวจเอกซเรย์ปอด (CXR) ใช้ในการคัดกรองหาจุดหรือฝ้า หรือรอยโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับปอดและทางเดินหายใจ
- ตรวจพิเศษอื่นๆ หากมีภาวะเสี่ยง เช่น ตรวจการได้ยิน ตรวจตา การตรวจเหงือกและฟัน หรือตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
ทั้งนี้ รายการการตรวจที่กล่าวมา เป็นเพียงรายการตรวจพื้นฐานทั่วไปที่ผู้สูงอายุควรตรวจเท่านั้น หากผู้สูงอายุมีภาวะเสี่ยงต่อโรคอื่นๆ ร่วมด้วย ควรได้รับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อหารอยโรคต่างๆ ที่ยังไม่แสดงอาการเพิ่มเติม เพื่อการป้องกันโรคให้รอบด้านยิ่งขึ้น
บทความโดย
แพทย์หญิงพรทิพย์ เรืองสีสมบูรณ์
แพทย์ประจำสาขาศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร.02-363-2000 ต่อ 2310-2312
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn