โรคกระเพาะอาหารชนิดทีมีแผล
อาจจะพบได้น้อยเมื่อเทียบกับโรคกระเพาะอาหารชนิดที่ไม่มีแผล ถึงแม้จะพบได้น้อย แต่มีความสำคัญเนื่องจากอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เนื่องจากเป็นโรคที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหาร และแผลในกระเพาะอาหารทะลุ เป็นต้น หากรักษาไม่ทันอาจเสียชีวิตได้
ส่วนใหญ่มีอาการปวดท้องบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ มีประวัติเป็นเรื้อรังมานาน แต่สุขภาพทั่วไปไม่ทรุดโทรม บางรายมีอาการจุก เสียด แน่น เจ็บ แสบ หรือ ร้อน อาการมักจะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารหรือชนิดของอาหาร เช่น อาจปวดมากเมื่อหิว หลังรับประทานอาหารจะทุเลา แต่บางรายอาการปวดเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น
สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะอาหาร
มีสาเหตุหลักมาจากเชื้อแบคทีเรียเฮโลโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicombacter Pylori) หรือ เอช.ไพโลไร หาก
โรคกระเพาะอาหารที่เป็นอยุ่เกิดจากเชื้อ “H. Pylori” อาจทำให้บุคคลในครอบครัว หรือเพื่อนที่ร่วมโต๊ะอาหารเดียวกัน เกิดโรคกระเพาะอาหารได้ ดั้งนั้นผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และรับการตรวจหาเชื้อ“H. Pylori” ในกระเพาะอาหาร เพื่อการวินิจฉัยที่ตรงจุดและการรักษาที่ทันท่วงที ก่อนจะลุกลามเป็นโรคร้ายในอนาคต
วิธีตรวจหาเชื้อ เอช.ไพโลไร
เพื่อวินิจฉัยอาการในเบื้องต้น สามารถทำได้โดย การตรวจลมหายใจ เพื่อดูการติดเชื้อ เอชไพโลไร , วิธีการเจาะเลือดตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ วิธีทางพยาธิวิทยา หรือดูการเปลี่ยนสีของชุดตรวจพิเศษ เพื่อหาเชื้อ และการตรวจที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น นั่นคือวิธีการส่องกล้อง
การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Gastroscope , EGD)
เป็นวิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามารถเห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้ชัดเจนดีกว่าการกลืนแป้ง การส่องกล้องฯ ช่วยยืนยันการวินิจฉัย และสามารถยืนยันตำแหน่งและขนาดของแผลที่ตรวจพบได้ นอกจากนี้การส่องกล้องฯ สามารถตรวจหาเชื้อ H.pylori โดยการคีบชิ้นเนื้อเล็กๆมาตรวจหาเชื้อหรือส่งตรวจพยาธิสภาพกรณีสงสัยมะเร็งกระเพาะอาหารได้ด้วย
การรักษาโรคกระเพาะอาหาร
สำหรับการรักษาจะใช้วิธีการกำจัดเชื้อเอช.ไพโลไร โดยให้ยาลดกรดร่วมกับยาปฎิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาด้วยยาลดกรด หรือยาช่วยปรับหรือเพิ่มความเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร เพื่อช่วยให้ไม่มีอาการมาย่อยค้างอยู่ในทางเดินอาหารส่วนต้น หรือบางรายอาจจะใช้ยาลดการอักเสบของเยื่อบุผิวกระเพาะอาหาร (Mucosal Protectants)
คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร
- หากมีการตรวจพบเชื้อ H.pylori ต้องทำการรักษากำจัดเชื้อ เพราะหากไม่มีการกำจัดเชื้อจะทำให้ไม่สามารถรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ให้หายขาดได้
- การรับประทานยารักษาแผลกระเพาะอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเองเมื่ออาการปวดท้องดีขึ้น เนื่องจากอาการปวดท้องมักดีขึ้นก่อนการหายของแผล
โรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล
เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหามากกับคนโดยส่วนใหญ่ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยหลักที่สำคัญ 2 ประการ คือ
- ความไวของประสาทการรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะอาหารและลำไส้มากผิดปกติ โดยเฉพาะต่อกรด หรืออาหารมันทำให้เกิดอาการแน่น หรือปวดท้อง
- กระเพาะอาหารและลำไส้เคลื่อนไหวผิดปกติ เช่น การขยายตัวของกระเพาะอาหารลดลง หรือมีการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง โรคนี้ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ไม่ทำให้เสียชีวิต ไม่มีเลือดออก และไม่กลายเป็นมะเร็ง
อาการของโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล
จะมีอาการเหมือนโรคกระเพาะอาหารชนิดมีแผล คือ ปวดท้องใต้ลิ้นปี่ แน่นท้อง ท้องอืด มีลมมาก คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานแล้วอิ่มง่าย ดังนั้นการวินิจฉัยที่แน่นอนคือ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร ถ้าผลปกติไม่มีแผล ไม่มีมะเร็ง จะสามารถสรุปได้ว่า เป็นโรคกระเพาะอาหารชนิดไม่มีแผล
การรักษาโรคกระเพาะอาหาร
การรักษาที่สำคัญที่สุด คือเน้นเรื่องการแนะนำถึงวิธีการปฎิบัติตัว และการเข้าใจถึงการดำเนินโรค เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ เพื่อจะได้ไม่เกิดความกังวล เมื่อมีอาการเกิดขึ้นในภายหลัง
การดูแลตนเอง สิ่งที่ต้องเน้นเป็นสำคัญ คือ เรื่องของอาหาร
- หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด เปรี้ยว รสจัด
- อาหารหมักดอง เช่น ผลไม้ดอง ผักดอง
- อาหารประเภทของทอด ของมัน เนื่องจากเป็นสารที่ย่อยยากกว่าสารชนิดอื่น
- ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหารควรงดเครื่องดื่มแอลกฮอล์ บุหรี่ น้ำอัดลม
- ไม่รับประทานจนอิ่มเกินไป เพราะจะทำให้กระเพาะขยายตัวกระตุ้นให้เจ็บ และปวดท้องมากขึ้น
- ลดปริมาณอาหารมื้อหลัก และเสริมในมื้ออาหารว่าง เพื่อไม่กระตุ้นให้เกิดการปวดท้อง
- พยายามอย่าให้ท้องว่างเกิน 3 ชม. และเคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อไม่ให้กระเพาะอาหารทำงานหนักมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงความเครียด ความวิตกกังวล เพราะความเครียดจะกระตุ้นให้กรดออกมาก ตามธรรมชาติเมื่อกรดออกมากจะสร้างแก็สมาก กระเพาะจะขยายและเกร็งตัวทำให้มีอาการปวดท้องมากขึ้น
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ อาคาร 1 ชั้น 2 โทร.02-2717000 ต่อ 10288-89