ปวดประจำเดือนเป็นอาการที่พบในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ส่วนใหญ่เมื่อปวดท้องประจำเดือนก็มักจะกินยาแก้ปวด ใช้กระเป๋าน้ำร้อน แผ่นร้อนเพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ซึ่งหากหายปวดก็ถือว่าเป็นอาการปวดประจำเดือนที่ค่อนข้างปกติ แต่หากรายใดมีอาการปวดแบบฉับพลันทันใดและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะกินยาแล้วก็ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติสุข หรือปวดมากขึ้นทุกครั้งที่มีประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
สาเหตุการปวดประจำเดือน
อาการปวดประจำเดือน แบ่งจากสาเหตุการเกิดได้เป็น 2 ประเภทดังนี้
1.ปวดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary dysmenorrhea) คือ การปวดประจำเดือนที่ไม่มีโรคหรือพยาธิสภาพใดๆ เป็นการเกิดจากสาร Prostaglandin ที่หลั่งออกมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกระหว่างการมีประจำเดือน ส่งผลให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว มีเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงมดลูกน้อยลง โดยทั่วไปจะมีอาการดังนี้
- เริ่มปวดหลังมีประจำเดือนใหม่ๆ ของการมีประจำเดือน 6 เดือนแรกในชีวิต
- มีอาการปวดใน 48-72 ชั่วโมงของการมีประจำเดือนครั้งนั้นๆ
- ปวดบีบหรือปวดคล้ายอาการเจ็บครรภ์คลอด
- เริ่มปวดจากอุ้งเชิงกราน อาจมีร้าวไปหลังหรือต้นขา
- อาจมีอาการคลื่นไส้ ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าร่วมด้วย
- เมื่อตรวจภายในแล้วไม่พบความผิดปกติ
2.ปวดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary dysmenorrhea) คือ อาการปวดประจำเดือนที่มีพยาธิสภาพ หรือโรคใดๆ ทำให้ปวด เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกมดลูก เกิดจากการใส่ห่วงอนามัย หรือมีพังผืดในช่องท้อง โดยอาการปวดจะรุนแรงและมักจะเรื้อรัง ดังนี้
- อาการปวดเริ่มในช่วงอายุ 20-30 ปี โดยไม่มีอาการปวดประจำเดือนมาก่อนหรือเคยปวดน้อยๆ ไม่เคยปวดมากมาก่อน
- ปวดรุนแรงขึ้น มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ในบางรายอาจปวดมากจนต้องฉีดยาแก้ปวด
- ประจำเดือนมามาก หรือมาผิดปกติร่วมด้วย
- มีความผิดปกติในอุ้งเชิงกราน หรือตรวจร่างกายพบความผิดปกติ
- ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือ ยาเม็ดคุมกำเนิด
- มีภาวะมีบุตรยาก
- ปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีตกขาวผิดปกติ
ปวดประจำเดือนรุนแรงหรือเรื้อรังเสี่ยงโรคอะไรบ้าง
การปวดประจำเดือนที่มีความรุนแรงหรือเรื้อรัง มักเป็นการปวดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ ซึ่งมักมีสาเหตุหรือเป็นอาการของโรคต่างๆ ได้ ดังนี้
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- เนื้องอกมดลูก โดยเฉพาะเนื้องอกมดลูกชนิดใต้เยื่อบุโพรงมดลูก
- การใช้ห่วงอนามัย ที่ทำให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น หรือทำให้เกิดพังผืดในมดลูก
- การมีพังผืดในช่องท้อง ที่มักเป็นผลมาจากการผ่าตัดคลอด หรือเคยได้รับการผ่าตัดเข้าทางช่องท้อง หรือมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง ซึ่งก่อให้เกิดพังผืดจนมีการดึงรั้งมดลูก
- ปากมดลูกตีบ ทำให้เลือดประจำเดือนไหลออกจากโพรงมดลูกได้ไม่สะดวก มดลูกจึงบีบตัวมากขึ้น
- มีความผิดปกติของโครงสร้างทางกายภาพในอวัยวะสืบพันธุ์ ทำให้ประจำเดือนไหลออกมาไม่ได้ หรือไหลได้ไม่ดี
- ภาวะต่างๆ เช่น ภาวะเนื้องอกรังไข่, ภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ, การตั้งครรภ์, เนื้องอกมดลูกชนิดต่างๆ, การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท้องนอกมดลูก, ลำไส้อักเสบเรื้อรัง, อุ้งเชิงกรานอักเสบ
ปวดประจำเดือนมากจะเป็นช็อกโกแลตซีสต์หรือไม่
ช็อกโกแลตซีสต์ คือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ส่วนใหญ่จะมีขนาด 2-5 ซม. แต่พบว่าใหญ่ได้ถึง 20 ซม. ที่เรียกว่าช็อกโกแลตซีสต์ก็เพราะมีการไหลย้อนกลับของประจำเดือนไปสะสมกลายเป็นถุงน้ำ โดยเลือดข้างในจะมีสีแดงคล้ำคล้ายกับช็อกโกแลต การปวดประจำเดือนมากและเรื้อรังอาจเป็นช็อกโกแลตซีสต์หรือไม่ก็ได้ หากกังวลหรือสงสัยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย เพราะหากเป็นช็อกโกแลตซีสต์แล้วปล่อยทิ้งไว้จนแตกจะมีอันตรายเป็นอย่างมาก
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมด้านสุขภาพ
แผนกสูตินรีเวช โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง
อาคาร A ชั้น 1 โทร.02 818 9000 ต่อ 100