โรคปอดอักเสบ ปอดบวม
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
01-ธ.ค.-2565

ปอดอักเสบ (pneumonia)

โรคปอดอักเสบเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ในกรณีของปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมักพบได้ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ป่วยที่รักษาตัวที่แผนกผู้ป่วยหนัก ICU หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ รวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิเป็นเวลานาน และผู้ที่สูบบุหรี่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

 

สาเหตุของการติดเชื้อมักเกิดจากการไอ จาม หรือการหายใจรดกัน ซึ่งเป็นการหายใจเอาเชื้อละอองฝอยขนาดเล็กที่อยู่ในอากาศเข้าสู่ปอดโดยตรง หรือการสำลักเชื้อที่สะสมอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงสู่ปอด เช่น น้ำลาย อาหาร หากผู้ป่วยมีการติดเชื้อที่อวัยวะส่วนอื่นด้วย อาจเกิดภาวะการแพร่กระจายของเชื้อตามกระแสโลหิตไปยังปอด หรือส่วนอื่นในร่างกายได้

 

โรคปอดอักเสบหรือปอดบวม (Pneumonia) เกิดได้จาก 2 สาเหตุ

  • การติดเชื้อหรือที่เรียกว่า Pneumonia ซึ่งพบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา จนทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ
  • ปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การหายใจเอาฝุ่น ควัน หรือสารเคมีที่ระเหยได้ ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบหายใจ

 

อาการโรคปอดอักเสบ

ข้อสังเกตง่ายๆ สำหรับผู้ที่มีอาการของปอดติดเชื้อคือ

  • ไอมีเสมหะ
  • เจ็บหน้าอกขณะหายใจหรือไอ
  • หายใจเร็ว หายใจหอบ หายใจลำบาก
  • มีไข้ เหงื่อออก หนาวสั่นคลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องเสียอ่อนเพลีย

 

การวินิจฉัยโรคปอดอักเสบ

แพทย์จะทำการตรวจ X-ray ปอด ตรวจเลือดและนำเสมหะ (swap) ของคนไข้ไปตรวจเพาะเชื้อทางห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจจำแนกแยกเชื้อที่เป็นสาเหตุ ก่อนวางแผนการรักษาให้ถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

ข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวง่ายๆ เพื่อการห่างไกลโรคปอดอักเสบ

  • ไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะไปทำลายกระบวนการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ล้างมือทุกครั้งที่มีการจับสิ่งของ หรือก่อนรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการไปอยู่ในที่ที่มีผู้คนหนาแน่น หรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย
  • หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์
  • เมื่อเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่อย่าปล่อยทิ้งไว้ ควรรักษาให้หายขาดแต่เนิ่นๆ
  • ควรสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหอบหืด โรคหัวใจ ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่

 

โรคปอดอักเสบ ที่เกิดจากการติดเชื้อมีความรุนแรงจนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ การป้องกันโรคจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในปัจจุบันกลุ่มเสี่ยง ทั้งเด็กเล็ก ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำหรือมีโรคประจำตัว สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Flu vaccine) และวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ (Pneumococcal vaccine) สำหรับป้องกันการติดเชื้อ Streptococcus pneumonia หรือที่เรียกกันว่าเชื้อนิวโมคอคคัส เพื่อลดอัตราการเกิดโรคปอดอักเสบจากการติดเชื้อได้เช่นกัน