ก่อนตรวจสุขภาพ เตรียมตัวอย่างไรดี
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
26-พ.ค.-2567

ก่อนตรวจสุขภาพ เตรียมตัวอย่างไรดี

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายของเราก็จะเริ่มถดถอย โรคภัยต่าง ๆ อาจจะเข้ามาหาเราโดยไม่ทันตั้งตัว การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ซึ่งนอกจากจะทำให้เรารู้เท่าทันโรค และป้องกันตัวเองจากโรคภัยได้ ยังสามารถช่วยให้เราพบโรคเร็วเพื่อการรักษาได้ทันท่วงที เป็นการเพิ่มโอกาสให้หายขาดไม่ต้องเกิดการสูญเสีย แต่ก่อนที่จะเข้ารับการตรวจสุขภาพ เราควรเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อผลที่ได้จะได้ตรงกับความเป็นจริงของสุขภาพในช่วงนั้น ๆ มากที่สุด

การเตรียมตัว ก่อนตรวจสุขภาพ
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพทุกครั้ง ควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เนื่องจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อความดันโลหิต และการเต้นของหัวใจ

2. การตรวจความดันโลหิต
   ● ก่อนวัดความดันประมาณ 30 นาที ไม่ควรดื่มกาแฟ เครื่องดื่มบำรุงกำลังที่มีคาเฟอีน หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
   ● การเดินระยะไกลสามารถทำให้ความดันสูงได้ชั่วคราว ควรนั่งพักก่อนวัดความดันประมาณ 10 – 15 นาที

3. กรณีที่มีการเจาะเลือด จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร หรือไม่ ?
   ● กรณีที่มีการตรวจน้ำตาลในเลือด (FBS) ควรงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ก่อนการเจาะเลือด
   ● กรณีที่มีการตรวจไขมันในเลือด ควรงดอาหาร 10 – 12 ชั่วโมง ก่อนเจาะเลือด รวมไปถึง งดดื่ม ชา  กาแฟ น้ำหวาน เครื่องดื่มต่าง ๆ และลูกอม แต่สามารถจิบน้ำเปล่าได้
   ● กรณีมีการเจาะเลือดอื่น ๆ เช่น น้ำตาลสะสม ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด การทำงานของตับหรือไต ไม่ต้องงดอาหาร

4. กรณีที่มีการตรวจปัสสาวะ ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง ?
   ● สำหรับสุภาพสตรี ไม่ควรตรวจในช่วงที่มีประจำเดือนเพราะอาจมีผลต่อการแปลผล
   ● วีธีการเก็บปัสสาวะที่ถูกต้อง คือ ต้องทำความสะอาดส่วนปลายของทางเดินปัสสาวะด้วยน้ำสะอาดแล้วเช็ดให้แห้งก่อน ปัสสาวะทิ้งไปเล็กน้อยแล้วเก็บปัสสาวะตรงส่วนกลางให้ได้ปริมาณที่กำหนด

5. การตรวจด้วยการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย
   
5.1 กรณีการตรวจเอกซเรย์ ให้ถอดเครื่องประดับต่าง ๆ ที่เป็นโลหะ สุภาพสตรีควรงดใส่ชุดชั้นในที่เป็นโครงเหล็ก หรือถอดก่อนเอกซเรย์ปอด หากสงสัยว่าอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ต้องแจ้งแพทย์ก่อนทำการตรวจทางรังสีเสมอ
   5.2 การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องทั้งหมด กรณีการตรวจอัลตราซาวด์ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนบนและล่าง
   ● การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน : งดอาหารอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนตรวจ เพื่อให้ถุงน้ำดีเก็บกักน้ำดี และลดปริมาณลมในกระเพาะและลำไส้ จะช่วยให้เห็นอวัยวะต่าง ๆ ได้ชัดเจน
   ● การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง : การดื่มน้ำเปล่าก่อนการตรวจ จะทำให้มีน้ำในกระเพาะปัสสาวะซึ่งจะช่วยดันลำไส้ออกจากช่องเชิงกราน ทำให้เห็นมดลูก รังไข่ ต่อมลูกหมาก และพยาธิสภาพอื่นได้ดีขึ้น

เอกซเรย์


6. การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการเอกซเรย์เต้านม Mammogram
● ไม่ต้องงดน้ำและอาหาร สามารถรับประทานได้ตามปกติ
● ห้ามทาโลชั่น แป้งฝุ่น บริเวณเต้านมและรักแร้ รวมถึงยาและสเปรย์ระงับกลิ่นกาย เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดจุดบนภาพ ทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อน
● ไม่ควรนัดตรวจในช่วงให้นมบุตร คัดตึงเต้านม หรือช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ช่วงที่เหมาะสมที่สุด คือหลังหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่บวมมาก ทำให้ไม่เจ็บและเป็นช่วงที่สามารถพบความผิดปกติได้ง่าย
● กรณีสงสัยตั้งครรภ์ไม่ควรเข้ารับการตรวจ หรือหากไม่แน่ใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนเข้ารับการตรวจ

7. การตรวจสายตา และสมรรถภาพการมองเห็น
● ไม่ควรมีภาวะเจ็บป่วยของดวงตาขณะที่เข้ารับการตรวจ เช่น ตาแดง ตาอักเสบ ตาบวม เป็นต้น
● กรณีสวมแว่นสายตาควรนำแว่นที่ใช้อยู่มาตรวจเช็คด้วย

8. การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน
● ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน คือตรวจหลังจากที่หลีกเลี่ยงเสียงดังมาแล้วอย่างน้อย 14ชั่วโมง นั่นก็คือควรตรวจก่อนเวลาเข้าทำงาน การตรวจในขณะทำงานหรือหลังจากออกกะมาแล้ว อาจทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้
● ผู้รับการตรวจต้องไม่เป็นหวัดคัดจมูก เพราะอาจมีภาวะหูอื้อได้

9. การตรวจสมรรถภาพปอด
● ไม่ควรตรวจหลังจากรับประทานอาหารมาใน 1 ชั่วโมง เพราะอาจจะทำให้อาเจียน
● หากสูบบุหรี่ ให้งดสูบบุหรี่มาก่อนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
● ควรสวมชุดที่ไม่รัดทรวงอกและท้อง ควรเป็นชุดที่ค่อนข้างหลวมสบาย
● ไม่อยู่ในภาวะหลังผ่าตัด โดยเฉพาะผ่าตัดช่องท้อง ทรวงอก หรือสมอง
● หากมีอาการไข้ ไอ เสมหะ ต้องแจ้งแพทย์ก่อนทำการประเมินสมรรถภาพปอด
● กรณีเป็นโรคที่ต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดพ่น ต้องงดใช้ยาขยายหลอดลมก่อนตรวจอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

10. กรณีมีโรคประจำตัวหรือยาที่รับประทานเป็นประจำ
ผู้เข้ารับบริการสามารถนำประวัติการรักษาและยาที่รับประทาน เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ผลตรวจสุขภาพและเป็นประโยชน์ในการดูแลสุขภาพตลอดปี

นพ.ศุภสิน วงศ์บุญตัน



สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์ตรวจสุขภาพ  โรงพยาบาลเปาโล เกษตร 
โทร. 02 1500 900 ต่อ 5129
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล เกษตร
Line official account : Paolo Hospital Kaset
Line ID : @paolokaset