หลายคนอาจไม่เคยทราบว่าโรค “หลอดเลือดหัวใจตีบ” เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย อาจด้วยเพราะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักไม่มีอาการแสดงเตือน จึงเกิดความชะล่าใจ คิดว่าหัวใจของตัวเองยังแข็งแรงดี เลยมองข้ามเรื่องของการดูแลหรือการตรวจสุขภาพหัวใจไป ต่อเมื่ออาการกำเริบแบบเฉียบพลันก็จะส่งผลให้เสียชีวิตได้ทันที!
“หลอดเลือดหัวใจตีบ” เกิดขึ้นได้อย่างไร?
จริงๆ แล้วโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวหรือมีไขมันมาเกาะที่ผนังหลอดเลือดมาก ทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดแดงผ่านได้น้อย มีการไหลเวียนของเลือดลดลง จนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดงตีบแคบมากจนอุดตัน ก็จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ในที่สุด
“อาการ” ต้องสงสัย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โดยปกติแล้ว โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักไม่แสดงอาการให้เห็นมากนัก แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันค่อนข้างมาก จะมีอาการที่สังเกตได้ คือ แน่นหน้าอกอย่างมาก เหมือนมีอะไรหนักๆ มากดทับตรงกลางหน้าอก โดยเฉพาะเวลาที่ออกกำลังกายหรือทำงานหนัก ต่อเมื่อหยุดพักอาการก็จะดีขึ้น เหนื่อยหอบน้อยลง ในขณะที่บางคนอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเฉียบพลัน เจ็บช่วงหน้าอกขึ้นไปถึงคาง หรือเจ็บลงไปถึงแขนซ้าย เหงื่อออก ใจสั่น หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น (Heart Attack) ได้

อะไรคือ “ปัจจัยเสี่ยง” โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ?
หลายคนเข้าใจว่า อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่รู้ว่าความจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นโรคทางพันธุกรรม หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ความอ้วน การทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือแม้แต่โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ก็ล้วนเป็นบ่อเกิดของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน
ใช้ชีวิตได้ตามปกติได้หรือไม่…หากเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
จริงอยู่ที่ โรคนี้เมื่อเกิดขึ้นแบบฉับพลันแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูง แต่ใช่ว่าคนที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะหากได้รับการรักษาอาการเฉียบพลันให้หายดีแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสุขภาพดีขึ้นได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งรวมถึง...
- ควบคุมการกินอาหาร หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง น้ำตาลสูง
- เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผัก ผลไม้ไม่หวาน และอาหารที่มีกากใย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยพิจารณาจากคำแนะนำของแพทย์
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ไม่เครียด
ไม่ว่าคุณจะเป็นคนหนุ่มสาวหรือเป็นผู้สูงอายุ หากพบความผิดปกติหรือมีอาการใดๆ เกิดขึ้น ก็ไม่ควรชะล่าใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาอย่างทันท่วงที ที่สำคัญคือต้องหมั่น “ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี” เพียงเท่านี้ก็สามารถใช้ชีวิตได้เต็มที่ตามพื้นฐานสุขภาพของตน เหมือนกับคนอื่นๆ แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ศูนย์หัวใจ อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร. 02-514-4141 ต่อ 1100, 1101