ส่องกล้องทางเดินอาหารไม่น่ากลัว...แค่เตรียมตัวตามนี้เลย
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
22-ต.ค.-2565

เพราะความผิดปกติเกี่ยวกับ “โรคทางเดินอาหารและลำไส้” อาจไม่ได้แสดงอาการให้เห็นชัดเจนแต่แรกเริ่ม แถมอาการทั้งหลายยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แม้จะเป็นโรคที่ต่างกันและร้ายแรงต่างกัน

ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคทางเดินอาหารและลำไส้ด้วย “การส่องกล้อง” จึงเป็นวิธีบ่งชี้ความผิดปกติที่ดีที่สุด และอาจหยุดยั้งโรคร้ายได้แต่เนิ่นๆ ไม่ว่าจะมีอาการเล็กน้อย หรือไม่มีอาการเลย แต่อยู่ในช่วงวัยที่เสี่ยงต่อโรคอย่างวัย
40+ ขึ้นไป

แต่เราก็มักจะกลัวขึ้นมาทันทีเพียงแค่ได้ยินคำว่า “ตรวจส่องกล้อง” งั้นมาทำความเข้าใจและรู้จักการตรวจส่องกล้องกันก่อน แล้วคุณจะรู้ว่า ถ้าเตรียมตัวให้พร้อมก็ไม่มีอะไรยากเลย



เข้าใจก่อนว่าการส่องกล้องทางเดินอาหารมี
2 ชนิด

       1.การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Upper GI Endoscopy)
จะใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ตั้งแต่หลอดอาหาร ไล่ลงไปกระเพาะอาหาร ถึงลำไส้เล็กส่วนต้น ส่วนมากเพื่อหาสาเหตุอาการโรคกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน การกลืนลำบาก ปวดท้องเรื้อรัง ตรวจหาแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในช่องท้อง หรือหาเนื้องอก


วิธีตรวจส่องกล้อง 
:
แพทย์จะใช้กล้องเอ็นโดสโคป มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก ยืดหยุ่นโค้งงอได้ มีเลนส์กล้องและแสงไฟที่ปลายท่อ สอดเข้าไปทางปากผ่านทางหลอดอาหารและลงไปยังกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้เห็นความผิดปกติที่เกิดในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น

เตรียมตัวยังไง?

  • อดอาหารและน้ำล่วงหน้าก่อนเข้ารับการส่องกล้องเพียง 6-8 ชั่วโมง
  • งดทานยาบางชนิดตามที่แพทย์แจ้งก่อนเข้ารับการตรวจ 7-10 วัน เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างแอสไพริน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในกระเพาะระหว่างส่องกล้องทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์
  • กระบวนการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้นใช้เวลาไม่นาน เพียง 20 นาทีเป็นอันเสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้ผู้ตรวจไม่ควรขับรถกลับบ้านเองหลังจากทำการส่องกล้อง เพราะยาระงับความรู้สึกหรือยาชาเฉพาะจุดที่ได้รับระหว่างการตรวจส่องกล้องอาจมีผลให้อ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมึนงงหลังการตรวจอีกสักพัก จึงควรพักผ่อนมากๆ และมีญาติรับกลับบ้าน


2.การตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

       เป็นการตรวจเพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติของผนังลำไส้ และสามารถตัดชิ้นเนื้อที่ผิดปกติบางขนิดออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัดทางช่องท้อง หรือเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อมาตรวจวินิจฉัยเนื้อร้าย ผู้ที่ควรส่องกล้องลำไส้ใหญ่มักจะมีอาการเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ หรือติ่งเนื้อในลำไส้ หรือลำไส้อักเสบเรื้อรัง อาการเช่น ท้องผูกเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ถ่ายเป็นเลือด อุจจาระลีบเล็ก ปวดท้อง ท้องอืดแน่น 


 
วิธีตรวจส่องกล้อง : แพทย์อาจให้ยาที่ช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและง่วง แล้วจึงใช้กล้อง Colonoscope กล้องเป็นท่อขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซ็นติเมตร ความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ยืดหยุ่น โค้งงอได้ สอดกล้องเข้าทางทวารหนักอย่างช้าๆ เข้าไปถึงส่วนของลำไส้ใหญ่ตอนต้น เพื่อให้เห็นภาพผนังภายในลำไส้ใหญ่และมองหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อหรือติ่งเนื้อที่ผิดปกติ

เตรียมตัวยังไง?
ก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ จำเป็นต้องทำความสะอาดลำไส้ใหญ่เพื่อให้แพทย์เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด โดยการถ่ายท้องให้ลำไส้สะอาด ส่วนใหญ่จะใช้วิธีดื่มของเหลวที่ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ทำงานและถ่ายท้อง หรือบางรายอาจใช้วิธีการสวนล้างลำไส้ กระบวนการนี้จะทำในคืนก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้อง

  • งดกินยาบางประเภทตามที่แพทย์สั่ง ก่อนถึงวันเข้ารับการส่องกล้อง
  • ก่อนวันนัดตรวจ 1 วัน ควรทานแต่อาหารเหลวที่ไม่มีกากใย เช่น ซุป อาหารอ่อน หรือโจ๊ก หรือน้ำผลไม้ชนิดใส
  • หลังการตรวจส่องกล้อง ผู้ป่วยควรนอนพักนิ่งๆ 2 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน เพื่อสังเกตอาการ อาจมีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด เนื่องจากมีลม อาการจะทุเลาลงหลังการตรวจ และไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง ควรมีญาติพากลับบ้าน เนื่องจากการได้รับยาระงับความรู้สึก หรือในรายที่ได้รับยานอนหลับ 

 


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
ศูนย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
อาคาร 1 ชั้น 2 โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ  1210  121
Line id : @Paolochokchai4