ทำไมต้องตรวจสุขภาพ…ก่อน “เดินทาง” ไปต่างประเทศ
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
10-พ.ย.-2565

เช็กความพร้อม…เพื่อ “ลดความเสี่ยง” ป่วยในขณะเดินทาง

หากเราสุขภาพไม่แข็งแรงและไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ ย่อมเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ทั้งยังอาจมีอาการที่รุนแรงมากกว่าคนทั่วไป หรือถ้าเราเป็นโรคติดต่อบางอย่างที่อาจเป็นโรคต้องห้ามในการเข้าประเทศนั้นๆ ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางเข้าประเทศ หรือหากเข้าประเทศได้แล้วมีอาการก็จะมีปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาลที่ไม่สะดวกเหมือนอยู่ในประเทศของเราเอง

 

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด... เราควรต้องศึกษาก่อนว่า ประเทศที่เรามีแพลนจะเดินทางไปนั้น มีโรคต้องห้ามหรือมีโรคระบาดที่ต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่ เพื่อที่เราจะได้เข้ารับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นให้ตรงกับโรคต้องห้าม และโรคที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของประเทศนั้นๆ รวมถึงหาทางป้องกัน เช่น การฉีดวัคซีนล่วงหน้าเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันก่อนเดินทาง

 

อาการและโรคที่ต้องระวัง…เมื่อเดินทางไกลบ้านหรือไปต่างประเทศ

1. ท้องเสีย นับเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในหมู่นักเดินทาง มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือโปรโตซัวที่ปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำดื่ม รวมถึงการกินอาหารแปลกๆ ที่แตกต่างไปจากที่ร่างกายคุ้นเคย ก็ทำให้ท้องเสียได้เช่นกัน 

 

2. คลื่นไส้ วิงเวียน มักเกิดในขณะนั่งรถ เรือ หรือเครื่องบิน และแม้แต่การเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก หากเรารู้ตัวว่ามักมีอาการเหล่านี้ขณะเดินทาง ควรกินยาป้องกันไว้ก่อน

 

3. Acute Mountain Sickness หรือ High Altitude Sickness เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้จากความกดดันอากาศที่เปลี่ยนไปอย่างมากเมื่อขึ้นสู่ที่สูง ซึ่งโดยทั่วไปต้องสูงกว่า 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อาการเบื้องต้นที่พบบ่อยคือ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เหนื่อยหอบ หากลงจากที่สูงแล้ว 1-2 วัน อาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ 

 

4. Jet Lag เป็นอาการชั่วคราวที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสารเครื่องบินที่ต้องเดินทางข้ามเขตเวลา (Time Zones) ทำให้สมองสับสนกับเวลา และปรับกิจวัตรให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ที่มีเวลาต่างกันไม่ทัน อาการที่พบบ่อยคือ นอนไม่หลับ เพลีย เวียนศีรษะ ขาดสมาธิ และระบบทางเดินอาหารแปรปรวน ท้องเสียหรือท้องผูก การออกไปรับแสงแดดยามเช้าสัก 30 นาทีในทุกๆ วัน จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้

 

5. ไข้มาลาเรีย (Malaria) เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุ่งก้นปล่องเป็นพาหะ ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อไข้มาลาเรียแล้วกว่า 350-500 ล้านคนทั่วโลก และปัจจุบันยังมีการระบาดในทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยก็ยังพบได้ในพื้นที่ป่าเขา น้ำตก และชายแดนแถบจังหวัดกาญจนบุรี ตาก ราชบุรี เพชรบุรี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ

 

6. ไข้เหลือง (Yellow Fever) เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ อาการที่เด่นชัดคือตัวเหลืองตาเหลืองหรือดีซ่าน ปวดศีรษะ มีไข้สูง โรคนี้พบมากในทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และแถบทะเลแคริบเบียน

 

7. ไข้กาฬหลังแอ่น เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Neisseria meningitidis ที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองและไขสันหลัง เป็นความเสี่ยงสำหรับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังทวีปแอฟริกา ซึ่งครอบคลุมกว่า 21 ประเทศ ตั้งแต่ประเทศเซเนกัลไปทางตะวันออก ไปจนถึงประเทศเอธิโอเปีย

 

8. ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่ปนเปื้อนมาในอาหารหรือน้ำดื่ม อาการสำคัญคือมีไข้สูง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร แน่นท้อง ท้องผูก และตามมาด้วยท้องเสีย หากไม่ได้รับการรักษาจะมีไข้นาน 2-3 สัปดาห์

 

นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนของโรคที่อาจเกิดขึ้นหรือพบเจอได้ระหว่างเดินทาง เราจึงควรเตรียมร่างกายให้พร้อมด้วยการตรวจสุขภาพก่อนเดินทางไปต่างประเทศ เพราะถ้าหากเราไม่มีภูมิคุ้มกันหรือร่างกายอ่อนแอ ก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งนั่นก็จะทำให้การเดินทางไม่ราบรื่น และกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพของเราได้

 

สอบถามรายละเอียด

ศูนย์ตรวจสุขภาพ อาคาร 3 ชั้น 1

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

โทร. 02-514-4141 ต่อ 3111