ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เรื่องสำคัญที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
17-ต.ค.-2565
title

ปัจจุบัน มะเร็งเต้านม คือ สาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย ซึ่งปัจจัยของการเกิดมะเร็งอย่างหนึ่งก็คือ การที่อาหารต่างๆ มีการปนเปื้อนสารเคมีและมีฮอร์โมนในปริมาณสูงจากการใช้สารเร่งการเจริญเติบโตอย่างในหมูและไก่ โดยเมื่อร่างกายของคนเราได้รับสารปนเปื้อนและฮอร์โมนเป็นระยะเวลานานจะมีการกระตุ้นให้เซลล์เกิดการเติบโตอย่างผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็งได้ โชคดีที่ว่า..เรายังสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งเต้านม หรือสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ด้วยการตรวจที่เรียกว่า “ดิจิตอลแมมโมแกรม”


ความอันตรายของ “มะเร็งเต้านม” ที่ไม่มีใครอยากเผชิญ

มะเร็งเต้านม เกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในต่อมน้ำนมหรือท่อน้ำนม หากก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ก็อาจจะแพร่กระจายไปตามต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หลอดเลือด และอวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น กระดูก ตับ ปอด และสมอง
ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกในขณะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็กและยังไม่แพร่กระจาย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น


ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ทำไมต้องอายุ 35 ปี ขึ้นไป?

จากสถิติ พบว่า 1 ใน 9 ของประชากรเพศหญิงจะป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านมในช่วงหนึ่งของชีวิตนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ควรจะต้องหาทางป้องกันล่วงหน้า ด้วยการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป ซึ่งถือเป็นช่วงอายุที่มีความเหมาะสมในการตรวจมากที่สุด เนื่องจากเต้านมของผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 35 ปีนั้น เนื้อเยื่อภายในเต้านมจะยังมีความหนาแน่นมาก ทำให้ภาพรังสีค่อนข้างออกไปทางสีขาว เพราะเนื้อเยื่อเต้านมอาจบดบังก้อนมะเร็งจนมองเห็นได้ไม่ชัด ทำให้วิเคราะห์ผลการตรวจได้ไม่ค่อยแม่นยำ ซึ่งการตรวจแมมโมแกรม จะได้ผลดีที่สุดก็ต่อเมื่อเนื้อเยื่อเต้านมเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย การตรวจลักษณะนี้จึงเหมาะกับผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปเท่านั้น เพราะจะช่วยให้พบมะเร็งในระยะเริ่มต้น หรือพบการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่มะเร็งได้ จึงเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ทันท่วงที


อายุและความถี่ที่เหมาะสม สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง
ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงแนะนำให้ตรวจทุก 2 ปีครั้ง แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย
แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง



ดิจิตอลแมมโมแกรม… ตรวจวิธีนี้ดีอย่างไร?
1. การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ชนิดพิเศษที่มีประสิทธิภาพมาก สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับปริมาณรังสีต่ำและน้อยกว่ารังสีเอกซเรย์ทั่วไป 30-60%


2. การตรวจดิจิตอลแมมโมแกรม สามารถแยกแยะความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ในเต้านมได้อย่างชัดเจน ทำให้มองเห็นเนื้อเยื่อที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้นได้เป็นอย่างดี จนสามารถระบุตำแหน่ง และค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นเครื่องมือที่ให้ผลถูกต้องและมีความแม่นยำสูงถึง 90% และไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อเต้านม


เพราะการ “ป้องกัน” ย่อมดีกว่าการ “รักษา”

การที่มีการออกมารณรงค์ให้สุภาพสตรีที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ทุกคน เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างน้อยปีละครั้ง ก็เพื่อนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพก่อนที่จะสายเกินไป



เพราะการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด คือการป้องกันก่อนการเกิดโรค และนอกจากการเฝ้าสังเกตเพื่อให้รู้เท่าทันและหมั่นตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังควรที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมไปถึงพยายามผ่อนคลาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม ลดละเลิกการสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา
และไม่รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันสูง ก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น




ปรึกษาปัญหาสุขภาพ 
ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 5 ชั้น 2

โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1203-1204
Line : Paolochokchai4