เพราะการแพทย์ได้มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่ง การส่องกล้องทางเดินอาหาร ในปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถตรวจวินิจฉัยรอยโรคได้อย่างละเอียด มองเห็นภาพอวัยวะภายในได้คมชัด รวมถึงสามารถตรวจหาความผิดปกติที่แอบซ่อนอยู่ในร่างกายได้ เช่น แผล เยื่อบุทางเดินอาหาร ก้อนเนื้องอก และการอักเสบ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการส่องกล้อง เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นสาเหตุของการเกิดรอยโรคได้ตรงจุด
การส่องกล้องทางเดินอาหาร สำคัญอย่างไร ?
การส่องกล้องทางอาหาร เป็นการตรวจภายในที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหาร ผ่านการใช้อุปกรณ์ที่ติดตั้งผ่านกล้อง สอดเข้าไปในร่างกายผ่านทางปากหรือทวารหนัก เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเกิดโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยหรือโรคที่อาจเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเมื่อสอดกล้องเข้าไปจะสามารถมองเห็นอวัยวะต่างๆในร่างกายได้อย่างคมชัด ผ่านทางจอภาพมอนิเตอร์ ซึ่งการส่องกล้องในแต่ละครั้งแพทย์อาจพิจารณาเป็นการตรวจ หรือการรักษาไปในครั้งเดียวกันก็ได้ แต่จะขึ้นอยู่กับอาการ หรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นในเฉพาะบุคคล
ทำไมต้องส่องกล้องทางเดินอาหาร
การส่องกล้องทางเดินอาหารในแต่ละครั้งสามารถตรวจ หรือรักษาไปพร้อมๆกันได้ เนื่องจากแพทย์สามารถเก็บชิ้นเนื้อที่อาจสงสัยเสี่ยงเป็นโรคร้ายส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการได้หลังตรวจเสร็จ โดยที่ไม่ต้องมีการผ่าตัดใหญ่ ซึ่งผู้ป่วยที่ผลตรวจปกติแพทย์อาจมีการตรวจติดตามอาการเป็นระยะๆ แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผลตรวจผิดปกติก็อาจจำเป็นต้องรักษาตามอาการเป็นลำดับต่อไป
เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์ เพื่อส่องกล้องทางเดินอาหาร- ปวดท้องเรื้อรัง รักษาด้วยการทานยาแล้วยังไม่ดีขึ้น
- น้ำหนักลดลงผิดปกติ
- เบื่ออาหาร
- กลืนติด กลืนเจ็บ
- ซีด อ่อนเพลีย
- การขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับท้องเสีย
- อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายดำ ถ่ายเป็นเลือด
จำเป็นต้องหยุดยาประจำหรือไม่ ก่อนตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร
การส่องกล้องทางเดินอาหาร ผู้ป่วยควรแจ้งประวัติการใช้ยากับแพทย์ก่อนล่วงหน้า เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลต่อการส่องกล้อง ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาได้ตามปกติ หรือจำเป็นต้องหยุดยาบางชนิดแก่ผู้ป่วยก่อนการส่องกล้อง
หากตรวจพบความผิดปกติขณะส่องกล้อง จะต้องทำอย่างไร ?
เมื่อแพทย์ตรวจพบความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการสอดเครื่องมือขนาดเล็กผ่านกล้อง เพื่อเอาชิ้นเนื้อมาตรวจวินิจฉัย ซึ่งการตัดชิ้นเนื้อด้วยการส่องกล้องจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดกับผู้ป่วยแต่อย่างใด อีกทั้ง ยังใช้เวลาในการตรวจวินิจฉัยไม่นานอีกด้วย
แล้วสามารถ ตัดติ่งเนื้อออก ออกไปได้อย่างไร ?
หากตรวจพบติ่งเนื้อขณะส่องกล้อง แพทย์จะสามารถตัดติ่งเนื้อได้หลายวิธี โดยติ่งเนื้อที่มีขนาดเล็ก อาจตัดออกไปด้วยเครื่องมือตัดชิ้นเนื้อผ่านกล้องเลยก็ได้ แต่ในกรณีที่ติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่อาจจำเป็นต้องใช้ขดลวดที่เป็นวง หรือที่เรียกว่า สแนร์ (Snare) รัดบริเวณรอบติ่งเนื้อผ่านกล้อง หลังจากนั้นจะใช้ไฟฟ้าในการตัดติ่งเนื้อออกไป และเก็บติ่งเนื้อไปส่งตรวจ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บขณะที่ทำการส่องกล้อง
การปฏิบัติตัวหลังส่องกล้อง- ควรนอนพัก 1-2 ชั่วโมง เพื่อสังเกตอาการผิดปกติในกรณีที่ได้รับยาระงับความรู้สึกขณะส่องกล้อง
- สามารถเริ่มจิบน้ำได้ หากไม่รู้สึกชาในคอหรือกลืนลำบากแล้ว
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่ายในวันแรกหลังส่องกล้อง
- ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 24 ชั่วโมง หลังส่องกล้อง
เพราะฉะนั้นอย่ารอให้ความผิดปกติที่แอบซ้อนไว้ แสดงอาการรุนแรงมากขึ้น เพราะหากเป็นแบบนั้นก็อาจทำให้คุณภาพชีวิตของคุณแย่ลง หรืออาจทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันลำบากมากขึ้น รวมถึงอาจต้องเสียเงินค่อนข้างเยอะในการรักษา ดังนั้น การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ