รู้หรือไม่? โรคกระดูกพรุน… ไม่ใช่แค่โรคของคนแก่เสมอไป
โรงพยาบาลเปาโลโชคชัย4
05-ต.ค.-2561
title ถ้าคุณเป็นคนที่อายุยังไม่ถึงเลขห้า เราเชื่อว่าคุณเองก็คงคิดว่า “โรคกระดูกพรุน” นั้นเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่รู้หรือไม่ว่าความจริงแล้ว โรคนี้สามารถเกิดกับคนในวัยหนุ่มสาวได้เช่นกัน

มารู้จัก “โรคกระดูกพรุน”

โรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่มีปริมาณแร่ธาตุแคลเซียมในกระดูกลดลงร่วมกับความเสื่อมของเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นโครงสร้างภายในกระดูกทำให้เนื้อหรือมวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง จึงเปราะและแตกหักได้ง่าย โดยบริเวณที่พบการหักของกระดูกได้บ่อยคือข้อมือสะโพกและสันหลัง

เมื่อ “แคลเซียม” เกี่ยวข้องกับ “อายุ”

การขาดแคลเซียมก็เหมือนกับบ้านที่ถูกปลวกแทะกินโครงร่างจนพรุน ทำให้กระดูกบางไม่หนาแน่น กระดูกจึงแตกหักได้ง่ายแม้จะถูกกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อยก็ตาม ในช่วงวัยเด็กจนถึงหนุ่มสาว กระบวนการสร้างมวลกระดูกจะมีมาก ร่างกายจะสะสมโครงสร้างกระดูก ทำให้เนื้อกระดูกมีความหนาแน่น จนกระทั่งถึงอายุ 25-30 ปี จะเป็นช่วงที่ร่างกายมีโครงสร้างมวลกระดูกหนาแน่นที่สุด โดยผู้ชายจะมีมวลกระดูกมากกว่าผู้หญิง จากนั้นก็จะปรับเข้าสู่ช่วงถดถอย กระบวนการสร้างกระดูกจะลดลง ทำให้มวลกระดูกค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุเลย 30 ปี เป็นต้นไป


ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเรื่องของ “อายุ”

อายุที่มากขึ้นอาจเป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้มวลกระดูกลดลง และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นโรคกระดูกพรุนกันมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอายุน้อย ๆ จะเป็นโรคกระดูกพรุนไม่ได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน อย่างการขาดวิตามินดีขาดแคลเซียมดื่มกาแฟมากเกินไป การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่รวมถึงในกลุ่มคนอายุน้อยที่ป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น โรคอดอาหารจนเกิดความผิดปกติในการกิน หรือโรคที่มีปัญหาในการดูดซึมของระบบทางเดินอาหารรวมถึงผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือประจำเดือนขาดหายไปเป็นระยะเวลานาน (โดยไม่ได้ท้อง) หรือบางครั้งอาจเกิดจากการได้รับยาบางชนิดเช่นยาสเตียรอยด์ ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะบางตัว ยารักษาโรคลมชักบางตัว ยารักษาเบาหวานบางตัวตลอดจนยารักษาโรคมะเร็งหลายชนิดซึ่งก็มีผลให้เกิดกระดูกพรุนได้

“ผู้หญิง” มีความเสี่ยงมากกว่า “ผู้ชาย”

ผู้หญิงในช่วงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะเป็นช่วงที่เกิดการเสียมวลกระดูกมากกว่าปกติ ดังนั้นเมื่อบวกกับการที่ผู้ชายมีมวลกระดูกมากกว่าผู้หญิงตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ผู้หญิงจึงมักมีการกระดูกพรุนและกระดูกหักจากกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย และยังพบว่าโรคกระดูกพรุนมีความสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์อีกด้วยโดยพบว่าผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคกระดูกพรุนจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปและในบางครั้งอาจพบโรคนี้ในคนที่อายุไม่มากโดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนได้เช่นกันคนที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่ามาตรฐานก็มักมีมวลกระดูกน้อยและเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนได้สูงกว่าคนปกติ

การป้องกัน… คือทางเลือกที่ดีที่สุด

การป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด คือการทำให้กระดูกมีความแข็งแรง ถ้าเป็นไปได้ควรเริ่มทำตั้งแต่เด็ก ๆ โดยการเสริมสร้างมวลกระดูกให้มีค่าความหนาแน่นสูงสุด ในช่วงก่อนอายุ 30 ปีเพื่อสะสมต้นทุนให้กระดูกแข็งแรงและมีคุณภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่ต่อไป นอกจากนี้ก็ควรกินอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอทุกวัน เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงควบคู่ไปกับการหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีกทาง

สอบถามรายละเอียด
ศูนย์กระดูกและข้อ อาคาร 2 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4
โทร.02-514-4141 ต่อ 1102 – 1105