วิสัญญี
06-พ.ค.-2561

หัวใจสำคัญ คือสร้างกำลังใจที่ดีแก่ผู้ป่วยและญาติในกรณีที่มีความกังวลต่อการใช้ยาระงับปวด
โดยเฉพาะเมื่อต้องให้ยาสลบแบบหมดสติ การแนะนำ ทำความเข้าใจและให้ข้อมูลที่ผู้ป่วยควรทราบ
ก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อเข้ารับการผ่าตัดได้อย่างสบายใจ ผ่อนคลาย และปลอดภัยมากที่สุด

      วิสัญญีแพทย์ หรือที่เรารู้จักกันทั่วไปในชื่อ “หมอดมยา” หน้าที่หลัก คือช่วยระงับความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด เริ่มตั้งแต่เตรียมความพร้อมก่อนผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัด คอยสังเกต ติดตาม รายงานผลผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด รวมไปถึงดูแลจนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นหลังจากการผ่าตัดอย่างปลอดภัย

      วิสัญญีแพทย์ นอกจากจะคอยดูความเรียบร้อย และความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดแล้ว ยังต้องติดตามผู้ป่วยที่อยู่ในขั้นวิกฤตในหออภิบาล และเป็นหนึ่งในทีมช่วยกู้ฟื้นคืนชีพ รวมถึงการให้ยาระงับความเจ็บปวดเรื้อรังในผู้ป่วยมะเร็ง

3 หน้าที่หลักของทีมวิสัญญีแพทย์

  1. ก่อนผ่าตัด : วิสัญญีแพทย์จะทำหน้าที่ในการวางแผนเกี่ยวกับการให้ยาระงับความรู้สึกของผู้ป่วย โดยพิจารณาการให้ยาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เตรียมความพร้อมเพื่อวางแผนการผ่าตัดด้วยการพูดคุย ซักประวัติ เช็คผลการตรวจร่างกายโดยรายละเอียด พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและญาติได้ซักถามข้อสงสัยด้านต่างๆโดยเฉพาะเรื่องการให้ยาระงับปวดเพื่อสร้างความอุ่นใจ จนกระทั่งพร้อมที่จะได้รับการระงับความรู้สึกและการผ่าตัดที่กำลังจะเกิดขึ้น
  2. ระหว่างผ่าตัด : ระหว่างการผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการระงับความรู้สึกโดยวิธีดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเฉพาะเฉพาะที่ตามความเหมาะสมวิสัญญีแพทย์จะต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาการผ่าตัดทำหน้าที่ตรวจเช็คคลื่นไฟฟ้าหัวใจความดันโลหิต และตรวจเช็คความปกติของระดับออกซิเจน ตลอดจนเฝ้าดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือและแก้ไขจนกว่าจะได้รับความปลอดภัยกระทั่งการผ่าตัดเสร็จสิ้น
  3. หลังผ่าตัด : หลังการผ่าตัดเสร็จสิ้นผู้ป่วยจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังห้องสังเกตอาการประมาณ1-2ชั่วโมง โดยมีวิสัญญีแพทย์ดูแลตรวจเช็คตามขั้นตอนเพื่อความปลอดภัย จากนั้นจึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปพักฟื้นยังห้องพัก ซึ่งวิสัญญีแพทย์ยังคงต้องติดตามอาการผู้ป่วยต่ออีกระยะหนึ่งเพื่อให้การช่วยเหลือในกรณีที่ยังรู้สึกปวด

ทำความรู้จักการให้ยาระงับความรู้สึก

การให้ยาระงับความรู้สึกแบ่งได้เป็น 2 รูปแบบคือ

  1. การให้ยาสลบทั้งตัว : ผู้ป่วยจะหมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่รู้สึกเจ็บในขณะผ่าตัดผู้ป่วยจะหลับด้วยฤทธิ์ยาสลบที่ให้ทางหลอดเลือดดำ หรือการสูดดมผ่านหน้ากาก ระหว่างนั้นวิสัญญีแพทย์จะคอยตรวจเช็ค ดูแลกระบวนการทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายให้เป็นปกติตลอดการผ่าตัดการให้ยาสลบในรูปแบบนี้ใช้ในการผ่าตัดใหญ่เช่น การผ่าตัดเปิดช่องท้อง กระดูกในบางส่วน หัวใจ และสมอง
  2. การให้ยาชาเฉพาะที่ : ผู้ป่วยไม่หมดสติ รู้สึกตัว แต่ไม่รู้สึกเจ็บในบริเวณที่ทำการผ่าตัด หากผู้ป่วยยังมีความกังวลก็อาจจะได้รับยาคลายความเครียด หรือลดความกังวลในระหว่างผ่าตัดร่วมด้วย การให้ยาชาเฉพาะที่ใช้ในกรณีผ่าตัดเล็ก เช่น ผ่าตัดซีสต์ อุบัติเหตุ เป็นต้น

ยาระงับความรู้สึกมีอันตรายหรือมีผลแทรกซ้อนหรือไม่ ?

      สิ่งที่ควรทราบ คือ เมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัด รวมถึงการให้ยาระงับความรู้สึกทุกวิธี ล้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้เสมออันมาจากปัจจัยต่างๆ ทั้งจากสภาพร่างกายของผู้ป่วยเองตัวโรคระดับความรุนแรงของโรค และวิธีการผ่าตัดซึ่งทั้งหมดนี้วิสัญญีแพทย์จะคอยเฝ้าระวังสังเกตอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกัน หรือแก้ไขภาวะแทรกซ้อนแม้แต่อันตรายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยแต่บางสถานการณ์ก็อาจหลีกเลี่ยงได้ยากขณะทำการผ่าตัดเช่น ภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำ หัวใจหยุดเต้น วิสัญญีแพทย์ และศัลยแพทย์จะต้องควบคุมสถานการณ์ และช่วยเหลืออย่างเต็มความสามารถเสมอ เพื่อให้การผ่าตัดเป็นไปอย่างราบรื่นในผู้ป่วยทุกๆ ราย