จนถึงเวลานี้ โรคฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade ยังคงเป็นโรคที่ใครหลายคนหันมากังวลกันมากขึ้น เพราะมีโอกาสติดเชื้อง่ายไม่ต่างจากเชื้อโควิด จึงมีหลายคำถามที่หลายคนอาจสงสัย เพื่อเตรียมตัวรับมือกับโรคในวันที่เชื้อมาปรากฏใกล้ตัวเรามากเกินไป
ถาม : ฝีดาษลิง Clade 1b อันตรายแค่ไหน อันตรายกว่าสายพันธุ์อื่นหรือโรคฝีดาษในอดีตมาก-น้อยแค่ไหน
ตอบ : จากสถิติ Clade 1b จะมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์อื่นๆ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิด หรือผ่านละอองฝอยที่ลอยอยู่ในอากาศ ประกอบกับปีพ.ศ. 2517 ไทยได้ยกเลิกการปลูกฝีไป เนื่องจากไม่พบผู้ติดเชื้อในไทยอีกแล้ว ทำให้ผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมาจะไม่ได้รับการปลูกฝี จึงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ โอกาสในการติดเชื้อและเสียชีวิตจึงค่อนข้างสูง โดยพบอัตราการเสียชีวิตได้ 4 ใน 100 คน ซึ่งค่อนข้างรุนแรงกว่าการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อไวรัสในระดับหนึ่ง
ถาม : โรคฝีดาษลิงติดต่อผ่านทางไหน?
ตอบ : โรคฝีดาษลิงสามารถจำแนกกระบวนการติดเชื้อออกได้เป็น 3 วิธี คือ คนสู่คน สิ่งของสู่คน และ สัตว์สู่คน
- คนสู่คน สามารถติดผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง หรือผ่านสารคัดหลั่ง และละอองฝอยจากร่างกายที่ลอยอยู่ในอากาศ เช่น การไอ จาม การมีเพศสัมพันธ์ ตุ่ม หนอง
- สิ่งของสู่คน เกิดจากผู้ที่มีเชื้อได้มีการใช้งานสิ่งของและทิ้งสารคัดหลั่งไว้บนสิ่งของนั้นๆ เช่น น้ำลาย หรือน้ำมูก ทำให้คนที่มาสัมผัสสิ่งของหรือใช้งานสิ่งของนั้นต่อมีโอกาสติดเชื้อได้
- สัตว์สู่คน เกิดจากการสัมผัสสัตว์ที่เป็นพาหะหรือสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากตัวของสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะทุกชนิด เช่น หนู กระต่าย กระรอก และลิง
ถาม : โรคนี้มีอาการอะไรบ้าง และมีกี่ระยะ
ตอบ : ส่วนใหญ่ประมาณ 1-3 วันจะเริ่มมีอาการ
- เป็นไข้
- อาเจียน
- เจ็บคอ
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- ปวดตัว
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- มีน้ำมูก เสมหะ ท้องเสียร่วมด้วยได้
ตอบ : ภายในวันที่ 4 - 6 หลังการติดเชื้อจะเริ่มมีตุ่มเล็กๆ นูน แดง เป็นตุ่มน้ำใส แสบร้อน คล้ายผื่นขึ้นบริเวณแขน ขา และตามลำตัว ก่อนจะอักเสบจนเกิดหนองและแห้งแตกไปเอง โดยแผลเป็นจากการเกิดตุ่มน้ำใสจะหายได้เองใน 2 - 4 สัปดาห์
ถาม : ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยง
ตอบ : จริงๆ แล้วทุกคนเป็นได้หมด แต่ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง ได้แก่
- คนไข้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ
- คนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี
- ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องทานยาเคมีบำบัด หรือได้รับรังสีรักษา
- ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ
- ผู้ที่ทานยากดภูมิ
- ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตนเอง
ถาม : ฝีดาษลิงและอีสุกอีใสต่างกันยังไง
ตอบ : อาการอื่นๆ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ตัวร้อนอาจจะมีความคล้ายคลึงร่วมกัน แต่ความแตกต่างจะอยู่ที่ลักษณะและกระบวนการพัฒนาของตุ่มน้ำโดยระยะแรกของฝีดาษลิงจะเป็นตุ่มเล็ก นูน แดง ค่อยๆ แสบร้อน และพัฒนาจนกลายเป็นตุ่มน้ำใส เกิดการอักเสบแตกออกมาเป็นหนอง และแห้งไปเอง ในขณะที่ระยะแรกของการเกิดโรคอีสุกอีใสจะเป็นตุ่มน้ำใส วาว แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อยๆ จนแตกออกมา
อย่างไรก็ตามการสังเกตตุ่มน้ำของทั้งสองโรคจะมีความใกล้เคียงกัน คนทั่วไปอาจจำแนกเองได้ยาก ดังนั้นจึงแนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจระบุโรคให้แน่ชัดต่อไป
ถาม : ปัจจุบันเรามีวัคซีนป้องกันฝีดาษลิงแล้วหรือยัง
ตอบ : ปัจจุบันมีเพียงวัคซีนป้องกันฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษในสมัยก่อน แต่หลังจากปีพ.ศ. 2523 เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้มีการยกเลิกการปลูกฝี ทำให้ผู้ที่เกิดหลังปีดังกล่าวเป็นต้นมาจะไม่มีภูมิคุ้มกันโรคฝีดาษอยู่เลย จนปัจจุบันก็ยังไม่มีวัคซีนใดที่สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงโดยตรงได้
ถาม : คนที่เคยปลูกฝีก่อนปีพ.ศ. 2523 ยังมีประสิทธิภาพป้องกันฝีดาษลิงได้อยู่หรือไม่
ตอบ : ผู้ที่เกิดก่อนปีพ.ศ. 2523 และเคยได้รับการปลูกฝีมาก่อน ตัววัคซีนยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อได้อยู่ เพียงแต่อาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% จึงยังมีโอกาสติดเชื้อได้เช่นกัน หากมีอาการน่าสงสัยแนะนำให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุโรคจะดีที่สุด
ถาม : ตอนนี้มีวิธีการรักษาอย่างไรแล้วบ้าง
ตอบ : เป็นวิธีการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง จึงมักได้รับยาประคองอาการ เช่น ยาลดไข้ ลดผื่น ยาบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ และเกลือแร่สำหรับคนที่มีอาการท้องเสียร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ แต่บางโรงพยาบาลจะมียาต้านไวรัสไว้ให้ โดยจะมียาต้านไวรัสที่ใช้กัน 2 ตัว ได้แก่ Tecovirimat และ Cidofovir
ถาม : โรคฝีดาษลิงมีอาการระยะยาวเหมือนโควิดหรือไข้หวัดใหญ่หรือไม่
ตอบ : ข้อมูลยังไม่แน่ชัด เนื่องจากผู้ติดเชื้อที่พบในตอนนี้ยังมีจำนวนน้อย และมีจำกัดทำให้ยังไม่มีข้อมูลมายืนยันว่าสามารถมีอาการในระยะยาวได้หรือไม่
บทความสัมภาษณ์
นายแพทย์ธาริน นุ่นพันธ์
แพทย์อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ และภาวะวิกฤตโรคระบบหายใจ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต