ผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง แผลเล็กหายไว้ ใช้ชีวิตได้ปกติ
โรงพยาบาลเปาโล
10-เม.ย.-2563

การผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้อง

เมื่อผู้หญิงมีความจำเป็นต้องรักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ โดยเฉพาะอวัยวะที่อยู่ข้างในและจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดก็จะมีทางเลือกระหว่าง การผ่าตัดแบบเดิมที่ใช้การเปิดหน้าท้อง แม้จะเป็นการผ่าตัดที่ได้มาตรฐาน แต่ก็มีข้อเสียคือการมีแผลใหญ่ และกระทบกับอวัยวะอื่นๆ ได้ง่าย เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดด้วยนวัตกรรมผ่าตัดผ่านกล้องซึ่งดูจะน่ากลัวน้อยกว่า มีแผลเล็ก ฟื้นตัวไว และกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็ว ทั้งยังลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย จึงเป็นทางเลือกที่นิยมกันมาก

การผ่าตัดส่องกล้องหรือผ่านกล้องทำเพื่ออะไร?

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชแบ่งได้เป็น 2 ประเภท โดยมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน คือ
  1. การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อดูอวัยวะในช่องท้อง โดยเฉพาะในอุ้งเชิงกราน (Laparoscopy) เป็นการดูอวัยวะในอุ้งเชิงกรานเพื่อวินิจฉัยและทำการผ่าตัด
  2. การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (Hysteroscopy) เป็นการใช้กล้องส่องผ่านทางปากมดลูกเข้าไปที่โพรงมดลูก เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติภายในมดลูก เป็นการผ่าตัดโดยไม่ต้องเปิดแผลหน้าท้องและผนังมดลูก สามารถตัดเนื้องอกในโพรงมดลูกได้เลยทันที

โรคที่นิยมรักษาด้วยการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช มีอะไรบ้าง

  • เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก
  • เนื้องอกที่รังไข่และมดลูก
  • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
  • ถุงน้ำรังไข่ และช็อกโกแลตซีสต์
  • โรคของโพรงมดลูก
  • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกระยะต้น
  • มะเร็งปากมดลูกระยะต้น
  • การตั้งครรภ์นอกมดลูก
และยังใช้สำหรับการทำหมันแห้ง หรือรักษาโรคที่มีบุตรยาก เช่น การตัดท่อนำไข่ที่ตันออกและต่อใหม่

วิธีการผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

แพทย์จะเจาะรูขนาดเล็กประมาณ 0.5-1 ซม. ผ่านทางช่องท้องหรือผิวหนังใกล้อวัยวะที่ต้องการผ่าตัด จำนวน 1-4 รูขึ้นอยู่กับโรคที่ทำการรักษา เพื่อสอดเครื่องมือ โดยมีไฟและกล้องขนาดเล็กสำหรับจับภาพอวัยวะภายในและส่งมายังจอมอนิเตอร์ แพทย์จะมองเห็นบริเวณที่ต้องการผ่าตัดได้ชัดเจน ทำให้การผ่าตัดมีความเที่ยงตรงและแม่นยำ ไม่กระทบกับอวัยวะในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องเหมือนกับการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง

การผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวชดีอย่างไร

  • ในด้านความสวยงาม ผู้ป่วยจะมีเพียงแผลขนาดเล็ก คือประมาณ 0.5-1 ซม. ที่หน้าท้องน้อยเพียง 3-4 แผลเท่านั้น
  • แผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็กทำให้กระทบต่ออวัยวะภายในน้อยลงมาก ทำให้เจ็บน้อย หายไว ฟื้นตัวเร็ว
  • หลังผ่าตัดสามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วัน ทำกิจวัตรส่วนตัวได้เอง ส่วนใหญ่พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-3 วัน แพทย์ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลหลายวัน
  • มักกลับไปทำงานและใช้ชีวิตได้ตามปกติภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่ต้องรอเวลาแผลหายนานเกินไป ไม่เสียงาน
  • อวัยวะภายในไม่บอบช้ำ ลดปัญหาภาวะแทรกซ้อน และการเกิดพังผืดหลังผ่าตัด

ผู้ป่วยควรปฏิบัติตนอย่างไรหลังผ่าตัดส่องกล้องทางนรีเวช

  • เมื่อแพทย์อนุญาตให้รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้ ให้ดื่มน้ำมากๆ และปัสสาวะบ่อยๆ โดยไม่ควรกลั้นปัสสาวะ
  • เปลี่ยนอิริยาบถช้าๆ ลุกเดินบ่อยๆ เพื่อลดโอกาสการเกิดพังผืดในช่องท้องจากแผลผ่าตัด
  • คอยสังเกตตัวเองว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น เจ็บหรือปวดแผลมากขึ้นเรื่อยๆ มีไข้ มีเลือด หนอง หรือของเหลวไหลออกมา เกิดการบวมแดงตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ให้แจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันที
  • ทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด กินยา และเข้ารับการตรวจตามนัด