ไส้เลื่อน... ผ่าตัดหายได้ หากปล่อยทิ้งไว้อันตรายแน่
โรงพยาบาลเปาโล
22-มิ.ย.-2564

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ผนังหน้าท้องยืดโป่งเป็นรู เป็นโพรง ทำให้ลำไส้บางส่วนเลื่อนไหลออกมาจากช่องท้อง มาติดค้างในโพรง หรือช่องบริเวณผนังหน้าท้อง เห็นเป็นก้อนปูดตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่ง อีกทั้งยังเกิดได้ในบริเวณอื่น เช่น ต้นขา หรือขาหนีบได้อีกด้วย โดยมากแล้วเมื่อเป็นไส้เลื่อนมักเกิดอาการปวด ในกรณีที่ไม่พบว่ามีก้อนปูดคนไข้ก็จะไม่รู้ตัวว่าเป็นไส้เลื่อน และเมื่อปล่อยทิ้งไว้สำไส้บริเวณนั้นก็อาจขาดเลือดและเน่าตายได้!

รู้ไหม...ไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้ในหลายส่วนของร่างกาย

คนทั่วไปมักขึ้นว่าไส้เลื่อนจะเกิดเฉพาะที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไส้เลื่อนสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายบริเวณ และเกิดได้กับทั้งเพศชายและเพศหญิง เช่น....

  • ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบมักพบในเพศชาย ซึ่งถ้าเป็นมากๆ อาจกลายเป็นไส้เลื่อนถุงอัณฑะ
  • ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ
  • ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อและผังพืดที่เกิดจากการผ่าตัดหย่อนยาน
  • ไส้เลื่อนที่สะดือ มักเป็นตั้งแต่แรกเกิดและจะหายได้เองเมื่ออายุ 2 ปี
  • ไส้เลื่อนตรงหน้าท้องเหนือสะดือ
  • ไส้เลื่อนกระบังลม ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดกระบังลมหย่อนยาน
  • ไส้เลื่อนบริเวณใต้ขาหนีบ ซึ่งมักเป็นในเพศหญิง
  • ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน ซึ่งมักพบในเพศหญิง

อาการเตือนที่บอกว่าคุณอาจเป็น “ไส้เลื่อน”

ไส้เลื่อนมักเกิดกับผู้ที่มีผนังช่องท้องอ่อนแอ โดยอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด หรือเมื่ออายุเพิ่มขึ้น และเมื่อใดก็ตามที่กิจวัตรประจำวันทำให้เกิดแรงดันภายในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้นก็จะดันลำไส้ให้เคลื่อนออกมา แต่ในบางครั้งลำไส้ก็สามารถเคลื่อนกลับเข้าไปในช่องท้องเองได้

ภาวะที่ลำไส้ได้เคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมาสู่ภายนอก จะทำให้คนไข้รู้สึกปวดหน่วงๆ หรือเจ็บบริเวณที่ไส้เลื่อนโป่งออกมา โดยเฉพาะเวลายืนหรือเดิน หากลองคลำดูอาจพบก้อนปูดที่สามารถผลุบเข้าออกได้บริเวณผนังหน้าท้องหรือตรงขาหนีบ โดยก้อนปูดจะชัดเจนขึ้นเมื่อเวลาเบ่งท้อง วิ่ง เกร็ง หรือขณะยกของหนักๆ

หากก้อนปูดนั้นยื่นออกมาแล้วหุบกลับเข้าไปเองไม่ได้ จะทำให้มีอาการปวดตรงบริเวณก้อนดังกล่าว บางรายอาจมีอาการผิดปกติอื่นร่วม เช่น เจ็บหน้าอก แน่นท้อง หรือแสบร้อนกลางอกคล้ายภาวะกรดไหลย้อน

ในกรณีที่อุจจาระไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ไปได้ อาจเสี่ยงต่อภาวะลำไส้อุดตัน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมวนๆ คลื่นไส้อาเจียน ท้องอืด ผายลมไม่ออก และหากลำไส้ที่เคลื่อนออกมาขาดเลือดไปเลี้ยงก็จะทำให้ลำไส้ตายและเน่า ผู้ป่วยก็จะปวดท้องรุนแรงจนไม่สามารถขยับตัวได้ บางรายอาจมีความดันโลหิตต่ำ จึงควรได้รับการรักษาหรือผ่าตัดให้เร็วที่สุด

เพราะอะไรจึงจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน

เพราะโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการกินยา ในกรณีที่ไม่สามารถดันไส้เลื่อนให้กลับเข้าสู่ที่เดิมได้ เมื่อไส้เลื่อนที่ไหลออกมาเกิดขึ้นเป็นก้อนนูนก็จะมีโอกาสขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอันตรายกลายเป็นโรคลำไส้อุดตัน หรือลำไส้เน่าเพราะขาดเลือดไปเลี้ยง ดังนั้นคนไข้จึงควรได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ ว่าจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดโดยด่วนหรือไม่ ซึ่งการผ่าตัดก็สามารถทำได้ทั้งการผ่าตัดแบบดั่งเดิมคือการเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบดั่งเดิม กับาการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ต่างกันอย่างไร...

  • การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบดั่งเดิมหรือแบบผ่าเปิดหน้าท้อง
  • การผ่าตัดด้วยวิธีนี้จะเป็นการผ่าตัดซ่อมแซมไส้เลื่อน หรือทำร่วมกับการเสริมความแข็งแรงทางผนังหน้าท้องด้วยการเย็บซ่อม หรือใช้ตาข่ายเสริมความแข็งแรง โดยแพทย์จะกรีดแผลเป็นแนวตามขาหนีบเพื่อทำการรักษาภายใน การผ่าตัดแบบนี้มีข้อดีคือแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ เหมาะกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถดมยาสลบหรือบล็อคหลังได้

  • การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Herniorrhaphy)
  • การผ่าตัดส่องกล้องไส้เลื่อนทำได้ 2 วิธี คือ การผ่าตัดผ่านชั้นก่อนเข้าช่องท้อง และการผ่าตัดเข้าช่องท้อง โดยผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆ ขนาดประมาณ 1.5 ซม. 1 แผล และ 0.5 ซม. 2 แผล แพทย์จะดึงถุงไส้เลื่อนกลับเข้ามาในช่องท้อง วางแผ่นสังเคราะห์ปิด โดยยึดไว้ด้วยหมุดโลหะ

    การผ่าตัดแบบนี้จะรบกวนเนื้อเยื่อน้อยกว่า ลดโอกาสการเกิดพังผืดในช่องท้อง มีการปวดแผลหลังผ่าตัดและภาวะแทรกซ้อนน้อย ลดอัตราการเป็นซ้ำ และสามารถซ่อมไส้เลื่อนขาหนีบได้ทุกชนิดในข้างเดียวกันในการผ่าตัดเพียงครั้งหนึ่ง พักฟื้นในโรงพยาบาลเพียง 1-2 วัน ในบางคนสามารถกลับบ้านได้ทันทีหลังฟื้นตัว และภายใน 1 สัปดาห์ก็ใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากไม่มีอาการเจ็บแผลอีกภายใน 2-4 สัปดาห์ ก็ออกกำลังกายหนักหรือเล่นกีฬาได้เลย

การดูแลตนเองหลังผ่าตัด

  • ระวังไม่ให้แผลเปียกชื้นจนกว่าจะตัดไหม
  • ไม่แกะเกาบริเวณแผล เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือเป็นหนอง
  • ขณะไอหรือจาม ให้ใช้ฝ่ามือหรือผ้าหนานุ่มกดประคองแผลไว้
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระและปัสสาวะ ควรระวังไม่ให้ท้องผูก
  • งดทำงานหนักหรือยกของหนักอย่างน้อย 3 เดือนหลังผ่าตัด
  • ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ถ้าเป็นหวัด เจ็บคอ หรือไอจามบ่อยๆ ควรรีบพบแพทย์ เพราะการไอ จาม อาจจะกระทบต่อแผลผ่าตัด
  • ใส่กางเกงในที่กระชับเพื่อช่วยประคองแผล ลดความเจ็บปวด
  • ถ้ามีอาการปวดแผลมาก ควรกินยาบรรเทาปวดตามแพทย์สั่ง
  • หากพบว่ามีไส้เลื่อนเกิดซ้ำ แผลแยก บวม แผลมีน้ำเหลืองซึม มีไข้ ปวดท้อง ให้รีบไปพบแพทย์