-
ผ่าตัดข้อเข่าเทียม ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
16-มิ.ย.-2566
ผ่าตัดข้อเข่าเทียม ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

แม้ข้อเข่าจะเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายที่หลายคนมองข้าม แต่ข้อเข่าก็มีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการลุกยืน การนั่ง การเดิน การวิ่ง และเป็นข้อที่คอยแบกรับน้ำหนักตัวของเราไว้ ซึ่งหลายคนที่มีพฤติกรรมการใช้หัวเข่าที่ไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้กระดูกข้อเข่าเสื่อมก่อนวัยอันควรได้

หน้าที่ของข้อเข่านั้นเป็นเสมือนบานพับที่เชื่อมต่อระหว่างหัวกระดูกต้นขาและเบ้ากระดูกหน้าแข้ง ซึ่งปลายกระดูกทั้งสองจะมีกระดูกอ่อนคลุมไว้ และจะมีน้ำเลี้ยงคอยหล่อลื่นเพื่อช่วยลดแรงกระแทกในขณะที่เราเคลื่อนไหว ซึ่งการเสื่อมสลายของผิวกระดูกอ่อนบริเวณดังกล่าวนั้นเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ข้อเข่าติดขัด และเกิดการอักเสบ บวม จนรู้สึกปวดตามมา ซึ่งรวมเรียกว่า “อาการข้อเข่าเสื่อม” นั่นเอง




ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อม

อายุ : พบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งอายุมากยิ่งพบมากขึ้น

เพศ : พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

น้ำหนักตัว : ปกติเวลาเดินบนพื้นราบ ข้อเข่าแต่ละข้างของเราจะต้องแบกรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นราว 3 เท่าของน้ำหนักตัว ซึ่งหากเรามีน้ำหนักตัวที่มากหรือมีภาวะอ้วนเกินไป ก็จะส่งผลให้กระดูกอ่อนผิวข้อชำรุด สึกหรอ และเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร

การบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า : มักเกิดจากการเล่นกีฬาที่มีการกระแทกในข้อเข่า เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล รวมไปถึงการเกิดอุบัติเหตุบริเวณข้อเข่า หรือเส้นเอ็นภายในข้อเข่า ก็จะส่งผลให้ความแข็งแรงของข้อเข่าลดน้อยลง และเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้ผิวข้อเข่าชำรุดหรือเสื่อมก่อนวัย


การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

ปัจจุบันการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมทำได้หลายวิธี เช่น

  • หากอาการยังไม่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้การรักษาด้วยการฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า เพื่อลดการเสียดสีขณะเคลื่อนไหว โดยวิธีนี้สามารถทำได้กับเฉพาะผู้ที่ไม่เคยมีการติดเชื้อในข้อเข่าเท่านั้น
  • หากมีอาการปวดที่รุนแรงเรื้อรังมานาน และรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ดีขึ้น แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมทดแทนข้อเข่าที่เสื่อมไป




การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม คือ การผ่าตัดเอาผิวข้อที่เสื่อมสภาพออก แล้วใส่ข้อใหม่ซึ่งผลิตจากวัสดุพิเศษทางการแพทย์ที่มีความแข็งแรงทนทานเข้าไปแทนที่ โดยแพทย์จะช่วยปรับความตึงหรือหย่อนของเนื้อเยื่อรอบข้อเข่า เพื่อให้ขามีรูปร่างที่เหมือนปกติมากที่สุด ไม่โก่งผิดรูป ส่วนการเปลี่ยนข้อเข่าเทียมจะได้ผลดีเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ

  • ประสบการณ์และความชำนาญของศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัด
  • สภาพของข้อเข่าของผู้ป่วยก่อนผ่าตัด ถ้าข้อเข่าติดแข็งหรือผิดรูป เช่น มีเข่าโก่ง หรือกล้ามเนื้อข้อเข่าลีบ ต้องมีการบริหารข้อเข่าหลังผ่าตัดเพื่อฟื้นฟูมากเป็นพิเศษ
  • ความร่วมมือในการบริหารฟื้นฟูข้อเข่า กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นรอบๆ ของผู้ป่วยหลังผ่าตัด

ความคงทนของข้อเข่าเทียม

ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมกว่าร้อยละ 80 ตัวข้อเข่าเทียมจะมีความคงทนได้นานกว่า 20 ปี อย่างไรก็ตาม สภาพของข้อเข่าเทียมจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งการใช้งานของผู้ป่วย ความเชี่ยวชาญของศัลยแพทย์กระดูก และคุณสมบัติของข้อเทียม ซึ่งผู้ป่วยควรดูแลน้ำหนักตัวไม่ให้สูงเกินเกณฑ์ หลีกเลี่ยงการนั่งยองๆ โดยไม่จำเป็น ไม่วิ่งทางไกล ไม่เล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ และหมั่นดูแลตัวเองโดยไม่ปล่อยให้ตัวเองติดเชื้อในอวัยวะใดเป็นเวลานาน รวมทั้งไม่ปล่อยให้ฟันผุ เหงือกอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือเป็นแผลที่เล็บเท้า ก็จะช่วยให้ข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นได้


วิธีการเตรียมตัว ก่อน-หลังการผ่าตัด
ก่อนการผ่าตัด
• เตรียมร่างกายให้พร้อม รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมทั้งนอนหลับให้เพียงพอ
• งดน้ำงดอาหาร อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
• แจ้งประวัติประจำตัว การแพ้ยา ให้แจ้งแพทย์เมื่อมีอาการป่วยก่อนการผ่าตัด
• งดสูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์
• ถอดเครื่องประดับเอาไว้ในที่ปลอดภัย เช่น แหวน สร้อยคอ ต่างหู หรือเครื่องประดับจากการเจาะตามร่างกาย เพื่อป้องกันการเสียหาย

ระหว่างการผ่าตัด
หลังการผ่าตัด
• งดน้ำงดอาหาร ประมาณ 12-24 ชั่วโมง ตามแพทย์สั่ง
• งดสูบบุหรี่ และแอลกอฮอล์

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์และทีมงานที่มีความชำนาญพิเศษ โดยทางโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ มีทีมแพทย์ที่ผ่านการศึกษาอบรมด้านการผ่าตัดจากสถาบันการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ จึงพร้อมดูแลและให้การรักษาแก่ทุกท่านเป็นอย่างดี

ซึ่งหากแพทย์ตรวจพบโรค แล้ววินิจฉัยว่าจำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด ทางโรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ ขอมอบสิทธิ์พิเศษเสริมความปลอดภัยให้ทุกท่านที่จะเข้ารับการผ่าตัดทุกประเภท ให้ได้รับการตรวจโรค COVID-19 ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย


Q : ทำอย่างไร? คนไข้จึงเจ็บปวดน้อยที่สุดหลังผ่าตัด และสามารถลุกเดินได้เร็วที่สุด

A : แพทย์จะใช้หลายเทคนิคร่วมกันในการผ่าตัดและการรักษา เช่น

  1. การผ่าตัดแผลเล็ก ทำให้มีการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อน้อยที่สุด จึงลดการเจ็บปวดที่ไม่จำเป็นออกได้
  2. หลังการผ่าตัดเสร็จ จะมีการฉีดยาชาและยาลดการอักเสบในบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งช่วยได้เป็นอย่างมาก
  3. ทีมวิสัญญีแพทย์ ทำการให้ยาชาเฉพาะที่ (Adductor Canal Block) โดยบล็อกเฉพาะเส้นประสาทที่นำความรู้สึกเจ็บปวด

วิธีเหล่านี้จะช่วยให้คนไข้เกิดความเจ็บปวดจากการผ่าตัดน้อยมาก และจะสามารถลุกนั่ง และฝึกเดิน รวมถึงทำกายภาพบำบัดได้ทันทีหลังการผ่าตัดเสร็จ และพักฟื้นที่โรงพยาบาลไม่นานก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

บทความโดย
นายแพทย์ กษิดิศ ศรีจงใจ 
แพทย์ประจำสาขากระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ










สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn