-
ทำไมถึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
16-ก.ย.-2567

ทำไมถึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม?

ในปัจจุบัน มะเร็งเต้านม ถือเป็น ‘มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดของผู้หญิงไทย’ และยังเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของผู้หญิงไทยด้วย แต่เราสามารถลดสถิตินี้ลงได้ ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เรียกว่า ดิจิตอลแมมโมแกรม ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติต่างๆ ของเต้านม รวมถึงค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มแรกได้ดี นำไปสู่การรักษาที่รวดเร็ว และเพิ่มโอกาสหายขาดได้มากกว่าการตรวจพบภายหลังเมื่ออยู่ในระยะลุกลามแล้ว

 

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็น “มะเร็งเต้านม” ?

ผู้หญิงทุกคนล้วนมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม แต่จะมีความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง เช่น

  • ผู้หญิงที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อน ย่อมมีความเสี่ยงสูง
  • ผู้หญิงที่มีพันธุกรรมผิดปกติที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
  • ผู้หญิงที่ไม่มีลูก หรือมีลูกคนแรกหลังอายุ 30 ปี
  • ผู้หญิงที่ได้รับฮอร์โมนเพศหญิงจากภายนอกเป็นเวลานาน เช่น การใช้ยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง
  • ผู้หญิงที่มีภาวะอ้วน และดื่มแอลกอฮอล์มากๆ เป็นประจำ

 


อาการแบบไหน? อาจใช่ “มะเร็งเต้านม” ที่ต้องรีบไปตรวจ

  • คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม หรือใต้รักแร้
  • รู้สึกเจ็บบริเวณเต้านม
  • ผิวหนังของเต้านมผิดปกติไปจากเดิม เช่น มีรอยบุ๋มคล้ายลักยิ้ม บวมหนาคล้ายเปลือกส้ม หรือมีรอยบวมแดง
  • มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม
  • มีแผลบริเวณเต้านมหรือหัวนม โดยเฉพาะแผลที่รักษาแล้วไม่หาย

หากมีอาการเหล่านี้ แพทย์มักตรวจพบว่ามีความสัมพันธ์กับมะเร็งเต้านม ดังนั้นแม้มีอาการเหล่านี้เพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดจะดีกว่า จะได้เริ่มทำการรักษาอย่างตรงจุดให้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายจากโรคได้

 

อันตรายของ “มะเร็งเต้านม”

หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่ไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ อาจส่งผลให้ก้อนมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณเต้านมขยายใหญ่และลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้ เช่น ตับ ปอด สมอง และกระดูก ซึ่งการแพร่กระจายของมะเร็งอาจเป็นระยะสุดท้ายของมะเร็งแล้ว ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีอัตราของการรอดชีวิตที่น้อยลง

ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอย่างสม่ำเสมอแม้ไม่มีอาการสงสัย จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ โดยปัจจุบันการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการตรวจที่เรียกว่า “ดิจิตอลแมมโมแกรม” นั่นเอง

 


ทำความรู้จักกับ “ดิจิตอลแมมโมแกรม”

การตรวจคัดกรองเต้านมด้วยดิจิตอลแมมโมแกรม คือ การเอกซเรย์เต้านมเพื่อค้นหาความผิดปกติ ซึ่งอาจพบเนื้อที่มีเป็นลักษณะเป็นก้อน เห็นความหนาแน่นของเนื้อเต้านมที่ผิดปกติ การกระจัดกระจายของเนื้อเต้านมที่ผิดปกติ หรืออาจพบหินปูนในเต้านม

การตรวจนี้ จะช่วยให้พบความผิดปกติในระยะเริ่มแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุม และใช้ตัวรับสัญญาณภาพชนิดดิจิตอล โดยข้อมูลภาพที่ได้จะส่งผ่านระบบคอมพิวเตอร์ไปปรากฏบนหน้าจอมอนิเตอร์ที่มีความละเอียดสูง จึงสามารถตรวจหาความผิดปกติได้ดีกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป และทำให้แพทย์ที่ทำการวินิจฉัย ทราบผลได้ในทันทีโดยไม่ต้องรออ่านผลภายหลัง

 

6 ข้อดีของดิจิตอลแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

  • คุณภาพของภาพเอกซเรย์มีความคมชัด สามารถแยกความแตกต่างของไขมัน และเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ของเต้านมได้ชัดเจน จนสามารถระบุตำแหน่ง และค้นหาความผิดปกติของเต้านมได้อย่างรวดเร็ว
  • สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
  • มีความปลอดภัย ไม่ทำอันตรายใดๆ ต่อเต้านม ซึ่งผู้รับบริการจะได้รับปริมาณรังสีต่ำและน้อยกว่ารังสีเอกซเรย์ทั่วไปราว 30-60%
  • ผลของการแมมโมแกรมมีความถูกต้องและแม่นยำสูงถึง 90%
  • ระยะเวลาในการตรวจรวดเร็ว เนื่องจากมีการบันทึกภาพเต้านมแบบดิจิตอล ไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม ทำให้สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้
  • สามารถตรวจหารอยโรคขนาดเล็ก อาทิ ปริมาณหินปูน แคลเซียมที่ซ่อนอยู่ในเต้านม แม้ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติเลยก็ตาม

 


เมื่อไหร่ถึงควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม?

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ควรเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 35 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้ตรวจทุกๆ 2 ปี แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจเป็นประจำทุกปี เนื่องจากจะช่วยให้ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ก่อนพบก้อนเนื้อหรือมีอาการผิดปกติ ซึ่งการตรวจพบในระยะแรกๆ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดี มีโอกาสหายขาด

 

ดิจิตอลแมมโมแกรมควรตรวจช่วงใดดีที่สุด?

เมื่อต้องเข้ารับการตรวจ แนะนำให้ตรวจในช่วงหลังหมดประจำเดือน ไม่ควรนัดตรวจแมมโมแกรมในช่วงให้นมบุตร หรือเมื่อท่านรู้สึกคัดตึงเต้านม หรือในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เจ็บระหว่างตรวจมากกว่าช่วงเวลาอื่น นอกจากนี้ ในวันที่ตรวจไม่ควรทาแป้ง สารระงับกลิ่นกาย โลชั่น บริเวณรักแร้หรือทรวงอก เนื่องจากสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดจุดบนภาพ ทำให้ผลการวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้

 

การตรวจเต้านมเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้หญิงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ โดยควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองง่ายๆ เป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้ง และหมั่นสังเกตเต้านมของตนเองว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมสูง ควรได้รับการตรวจด้วยวิธีดิจิตอลแมมโมแกรม เพราะมีโอกาสตรวจพบเจอมะเร็งเต้านมตั้งแต่ในระยะแรกได้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที

 
บทความโดย
นายแพทย์สุรินทร์ ดิกิจ
แพทย์ประจำสาขาศัลยกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ







สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn