กิจกรรมฝึกสมาธิให้ลูกน้อย เมื่อเด็ก ๆ ย่างเข้าสู่วัย 2 ขวบปีเป็นต้นไป เด็ก ๆ จะให้ความสนใจและต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวมากขึ้น หากผู้ปกครองไม่ให้ความช่วยเหลือดูแลหรือปล่อยเด็กให้อยู่กับหน้าจอมากจนเกินไป จะส่งผลให้ความสามารถทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมของเด็กถูกจำกัดได้ ซึ่งแนวทางในการช่วยเหลือดูแลเด็กให้สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดียิ่งขึ้นคือ การที่ผู้ปกครองหากิจกรรมที่ช่วยฝึกในเรื่องของสมาธิมาทำร่วมกับเด็ก ๆ โดยผู้ปกครองต้องหมั่นคอยสังเกตหรือลองจับเวลาดูว่า โดยปกติแล้วนั้น เด็กสามารถจดจ่ออยู่กับการทำกิจกรรมหนึ่ง ๆ ได้นานแค่ไหน บางคนอาจจะ 5 นาที บางคนอาจจะ 10 นาที ก็ว่ากันไป แล้วเราค่อยหากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมสมาธิให้กับเขา โดยเพิ่มระยะเวลาของการทำกิจกรรมให้นานขึ้น ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถเลือกกิจกรรมตามความสนใจของเด็กหรือการใช้อุปกรณ์ที่มีในบ้านหรือของเล่นที่หาได้ง่าย ๆ มาเล่นกับลูกเพื่อฝึกสมาธิได้ ซึ่งในครั้งนี้ นักกิจกรรมบำบัดในผู้รับบริการเด็กได้ยกตัวอย่างกิจกรรมง่าย ๆ ดังนี้
- 1. หยอดลูกปัดหรือวัตถุใส่ขวด เป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถส่งเสริมสมาธิได้ โดยใช้ขวดหรือภาชนะปากแคบให้เด็กนำวัตถุใส่ลงไป โดยเด็กจะต้องพยายามมองหาตำแหน่งที่สามารถใส่วัตถุลงไปได้ นอกจากนี้การที่วัตถุกระทบกับภาชนะจะทำให้เกิดเสียง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจในการมองหามากขึ้นด้วย
- 2. การจับคู่รูปภาพ โดยอาจให้เด็กมองหาและจับคู่ภาพที่เหมือนกันเลย หรือในเด็กที่โตขึ้น อาจให้เวลาเด็กในการมองและจำภาพ จากนั้นผู้ปกครองทำการคว่ำภาพและสลับที่ภาพ แล้วให้เด็กหาภาพที่เหมือนกัน
- 3. การระบายสีภาพ การระบายสีภาพให้เสร็จ เด็กต้องใช้สมาธิในระดับหนึ่ง แต่ผู้ปกครองอาจเพิ่มความท้าทายและวิธีการที่จะทำให้เด็กได้ฝึกสมาธิในการทำกิจกรรมมากยิ่งขึ้น โดยการระบายสีภาพให้เหมือนกับตัวอย่างหรือให้เด็กดูสีและตำแหน่งที่ต้องระบายตามสัญลักษณ์ที่กำหนด
- 4. การร้อยลูกปัด ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมง่าย ๆ และเด็ก ๆ อาจคุ้นเคย กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่อาศัยความสามารถในการทำงานร่วมกันของมือทั้งสองข้าง รวมถึงการทำงานที่สัมพันธ์กันระหว่างการมองเห็นและการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ผู้ปกครองยังใช้เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมในเรื่องของสมาธิได้ โดยอาจเพิ่มขั้นตอนที่เด็กต้องใช้การจดจ่อและความสามารถด้านการรับรู้และความคิดความเข้าใจที่มากขึ้นด้วย เช่น การให้ร้อยลูกปัดตามแบบ เป็นต้น
5. เกมหาลูกบอลในแก้ว โดยอุปกรณ์ที่ต้องใช้ก็จะมี ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ กับแก้วน้ำทึบแสงที่ไม่สามารถมองเห็นของเล่นด้านในได้ ซึ่งวิธีการเล่นก็ทำได้ง่าย ๆ คือ นำแก้วน้ำโดยอาจจะเริ่มที่จำนวนสองถึงสามใบมาวางคว่ำเรียงกัน จากนั้นนำของเล่นที่ต้องการให้เด็กหาวางไว้ในแก้วใบใดใบหนึ่ง จากนั้นก็หมุนสลับที่แก้วไปมาแล้วหยุด และให้เด็กทายว่าลูกบอลอยู่ในแก้วใบไหน ซึ่งผู้ปกครองอาจจะเพิ่มจำนวนของแก้วหรือของเล่นที่ซ่อนให้มากขึ้นตามลำดับความสามารถของเด็ก
การเลือกกิจกรรมให้เด็กทำในแต่ละครั้ง เราควรเริ่มต้นจากการประเมินพฤติกรรมหรือความสามารถเบื้องต้นว่าลูกของเราสามารถจดจ่ออยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ ได้นานแค่ไหน ลูกชอบทำหรือเล่นอะไร แล้วนำเอากิจกรรมต่าง ๆ หรือของเล่นต่าง ๆ เหล่านั้นมาใช้ในการฝึกสมาธิของลูก โดยผู้ปกครองสามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หรือวิธีการจากกิจกรรมที่ยกตัวอย่างไปแล้วนั้นได้ตามช่วงความสนใจ ความชอบ และความสามารถของเด็กแต่ละคนโดยผู้ปกครองค่อย ๆ ลองเพิ่มเวลาในการทำกิจกรรมหรือเพิ่มจำนวนของเล่นหรือกิจกรรมที่ต้องทำให้เสร็จมากขึ้นเพื่อฝึกสมาธิของลูก ทั้งนี้กิจกรรมควรมีความหลากหลาย น่าสนใจ ท้าทายความสามารถ ไม่จำเจ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้นานและมีประสิทธิภาพโดยไม่ล้มเลิกความตั้งใจเสียก่อน
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก
นางสาวภัทราภรณ์ สิงหศิริ
นักกิจกรรมบำบัด พัฒนาการเด็กปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิตLine ID : @paolorangsit