-

แพทย์หญิงภาวิณี ธีรการุณวงศ์

กุมารเวชกรรมสาขาพัฒนาการและพฤติกรรม

วุฒิบัตร

กุมารเวชกรรม
วัน เวลา
อังคาร 07:00 - 17:00
พุธ 08:00 - 12:00
พฤหัสบดี 07:00 - 17:00
ศุกร์ 08:00 - 16:00
เสาร์ 07:00 - 15:00

พญ.ภาวิณี ธีรการุณวงศ์

กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลเด็ก
  • อนุสาขาพัฒนาการและพฤติกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลเด็ก

"คำว่า 'พัฒนาการเด็ก' เป็นคำที่กว้างและกว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนต้องใช้เวลา การตรวจคัดกรองพัฒนาการและพฤติกรรม เด็กควรได้รับการตรวจเป็นระยะโดยเริ่มตั้งแต่วัยทารก และไม่ว่าผลการตรวจจะชัดเจนตอนไหน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับพัฒนาการของลูกในทุกช่วงวัย เพราะหากเด็กไม่ได้รับการตรวจหรือการดูแลที่เหมาะสม ปัญหาที่ซ่อนอยู่อาจส่งผลเสียกับเด็กในระยะยาวได้"

พญ.ภาวิณี ธีรการุณวงศ์ เป็นกุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก คุณหมอมองว่าการที่เด็กเจ็บป่วยเราจะเห็นอาการเปลี่ยนปลงได้ชัด เด็กจะซึม ไม่เล่น งอแง แต่เมื่อเขาหายเป็นปกติเขาก็จะร่าเริง แต่ในส่วนของพัฒนาการและพฤติกรรมนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะมองข้ามไปหรือมองไม่เห็นปัญหา ซึ่งกว่าปัญหาจะปรากฏชัดก็เมื่อเด็กโตมาในระดับหนึ่งแล้ว ทำให้การแก้ปัญหาอาจจะช้าเกินไป ดังนั้นการตรวจคัดกรองพัฒนาการจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการตรวจสุขภาพหรือการรักษาเมื่อเด็กเจ็บป่วย

ตรวจ รักษา แก้ไขปัญหาพัฒนาการในเด็ก

พัฒนาการเด็กแบ่งเป็นพัฒนาการด้านร่างกายและพัฒนาการด้านจิตใจซึ่งจะแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่เห็น พัฒนาการด้านร่างกายเริ่มจากความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อต่างๆ ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น การชันคอ พลิกคว่า คืบ คลาน ลุก นั่ง เกาะ ยืน เดิน และการพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น การใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการทำงานของดวงตา ส่วนในด้านภาษา พัฒนาการการพูด การสื่อสาร ความเข้าใจภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญ แล้วเราควรดูแลให้ครบและประกอบกันทุกด้าน โดยเฉพาะที่ต้องให้ความสำคัญมากๆ ก็คือ พัฒนาการด้านภาษากับกล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งสัมพันธ์กับทักษะด้านการเรียนรู้เมื่อเด็กโตขึ้น อย่างการพูดได้ช้าก็มักจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการอ่านร่วมด้วย

คุณหมอบอกว่า "หมอเด็กหรือกุมารแพทย์ ก็จะดูแลสุขภาพของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 15 ปี สำหรับหมอเองเป็นหมอเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม จึงมุ่งเน้นไปที่การตรวจ ดูแล และแก้ปัญหาในด้านพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัยให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เรื่องของการตรวจพัฒนาการ บางครั้งผู้ปกครองอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตรวจครั้งเดียวก็พอ หากตรวจแล้วเด็กปกติดีก็คิดว่าจะปกติไปตลอด แต่จริงๆ แล้วพัฒนาการของเด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงวัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัญหาก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเช่นกัน ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานเข้ารับการตรวจตามนัดหมาย เพื่อดูว่าเด็กมีพัฒนาการที่เหมาะกับวัยหรือเปล่า หากพบปัญหาจะได้รีบแก้ไข เพื่อให้เด็กกลับมามีพัฒนาการที่เหมาะสมต่อไป"

พูดช้า ต่อต้าน ไม่อยู่นิ่ง ทุกปัญหามีทางแก้

การที่เด็กไม่พูดหรือพูดช้า ส่วนใหญ่เกิดจากการขาดการกระตุ้นจากครอบครัว พ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงดูเด็กจึงควรใช้เวลาพูดคุยกับเด็กให้มากเพราะเป็นการสื่อสารแบบสองทาง ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเป็นเวลานาน กรณีเด็กไม่อยู่นิ่ง มีอารมณ์แปรปรวน โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ขวบ เป็นช่วงวัยที่เรียกว่า “วัยทองของเด็ก” ซึ่งเด็กจะแสดงความเป็นตัวเองและทำสิ่งที่ทำได้อยู่ตลอด เช่น เมื่อเดินได้ก็จะเดินทั้งวัน เด็กจะเริ่มมีความคิดในแบบของเขา พ่อแม่ก็จะรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง พ่อแม่มักกังวลเมื่อพบว่าลูกอยู่ไม่นิ่งหรือพูดได้ช้า แต่กลับไม่กล้าพามาพบแพทย์เพราะกลัวว่าจะพบว่าลูกเป็นเด็กออทิสติก ซึ่งจริงๆ แล้วการได้พบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็วย่อมดีกว่า เพราะทุกปัญหาจะมีแนวทางการแก้ไขให้ดีขึ้นได้เสมอ

ตรวจคัดกรองพัฒนาการรอบด้านเพื่อการเจริญเติบโตสมวัย

การตรวจพัฒนาการในเด็ก คุณหมอจะใช้ชุดตรวจการคัดกรองพัฒนาการในแต่ละด้านตามช่วงวัย และโดยปกติเมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นปัญหาที่พบก็มักจะซับซ้อนขึ้น เช่น ปัญหาด้านการเรียน การอ่าน การเขียน ซึ่งหากคุณหมอเห็นว่าเด็กอาจมีปัญหาด้านเชาวน์ปัญญา (IQ) ก็จะส่งต่อให้นักจิตวิทยาประเมินอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องและวางแนวทางการแก้ปัญหาต่อไป

คุณหมอบอกว่า พัฒนาการที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อชีวิตหลายอย่าง โดยได้ยกตัวอย่างกรณีที่เคยรักษาเด็กอายุ 2 ขวบกว่าแต่มีปัญหาเรื่องการพูดช้าและมีปัญหาเรื่องการกิน โดยกินแต่อาหารเหลวไม่ยอมเคี้ยวอาหาร ผลการตรวจพบว่าเด็กมีปัญหาทางด้านช่องปากร่วมด้วย ซึ่งกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการช่วยแก้ปัญหาไปทีละเปลาะ เช่น ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้วยการฝึกพูดคุย ฝึกเรื่องการกิน และคุณหมอก็ให้เด็กได้รับการนวดช่องปากโดยนักกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอ สุดท้ายพัฒนาการการพูดของเด็กก็ดีขึ้น อาการผิดปกติในช่องปากก็ได้รับการแก้ไขและหายดีในที่สุด

กิจกรรมบำบัด แก้ไข ส่งเสริมพัฒนาการ

เมื่อคุณหมอตรวจพบพัฒนาการที่ไม่สมวัย คุณหมอจะทำงานร่วมกับนักกิจกรรมบำบัด โดยแจ้งถึงปัญหาและสิ่งที่ต้องทำการแก้ไข นักกิจกรรมบำบัดก็จะสร้างโปรแกรมเฉพาะให้เหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อขจัดความบกพร่องและส่งเสริมพัฒนาการให้ตรงกับเด็กคนนั้นๆ มากที่สุด

นอกจากปัญหาด้านพัฒนาการ คุณหมอยังดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ ของเด็กด้วย เช่น การกิน การขับถ่าย การนอน การที่ผู้ปกครองเข้ามารับคำปรึกษาก็จะได้พูดคุยกับคุณหมอ ได้รู้ปัญหาและวิธีการแก้ไขอย่างตรงจุด

ความรู้ความเข้าใจของผู้ปกครองสำคัญต่ออนาคตของเด็ก

บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่มักเห็นว่าการมาหาหมอพัฒนาการเหมือนมาคุยเพื่อรับคำปรึกษาอย่างเดียว ไม่เหมือนกับการรักษาที่มีการกินยาหรือฉีดยา และการเลี้ยงดูเด็กเล็กของแต่ละครอบครัวก็มีแนวทางตามความรู้และความเชื่อแตกต่างกันไป แต่เพราะความรู้ใหม่ๆ และสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป คุณหมอคิดว่าทุกครอบครัวจำเป็นต้องเปิดใจเรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูเด็กแบบใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมทั้งทางร่างกายและสติปัญญา

สำหรับคุณหมอเองก็ยังติดตามความรู้ใหม่ๆ ด้วยการร่วมประชุมประจำปีของชมรมพัฒนาการเป็นประจำ ทั้งยังนำความรู้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กมาถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองนำไปใช้ อย่างเช่น เรื่องของพัฒนาการด้าน EF ซึ่งเป็นพัฒนาการด้านกระบวนการทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ ซึ่งเป็นทักษะที่ทุกคนต้องใช้เพื่อสร้างความสำเร็จให้ชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ อันถือเป็นกุญแจความสำเร็จของเด็กยุคใหม่ การที่คุณพ่อคุณแม่จะสอนให้เด็กรู้จักรอคอย มีการวางแผน มีความยืดหยุ่น มีความมุ่งมั่น รู้จักวิธีแก้ปัญหาเมื่อเจออุปสรรคเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สิ่งเหล่านี้สามารถค่อยๆ ปลูกฝังให้กับเด็กๆ ได้ตั้งแต่ยังเล็กในรูปแบบง่ายๆ ที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวัน

"หมออยากให้ผู้ปกครองมีความเข้าใจ และเห็นความสำคัญเกี่ยวกับพัฒนาการให้มากขึ้น เพราะในปัจจุบัน การแข่งขันด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นการแข่งขันที่เข้มข้น หมออยากให้เด็กไทยสู้กับเด็กต่างชาติได้ ไม่โฟกัสเพียงแค่กลัวเด็กอ่านไม่คล่อง เขียนไม่คล่อง ซนไม่ซน คนในครอบครัวควรเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนก็มีทั้งด้านเด่นและด้านด้อย เมื่อทราบปัญหาก็จะสามารถแก้ไขหรือส่งเสริมพัฒนาการให้ถูกทาง ทั้งนี้ก็เพื่อขจัดความบกพร่องให้หมดไป ให้เด็กๆ ได้ก้าวไกลมุ่งสู่ความสำเร็จในสิ่งที่เขาโดดเด่นได้อย่างมีความสุข"