-

นายแพทย์กษิดิศ ศรีจงใจ

แพทย์ประจำสาขาศูนย์ข้อเทียม ศูนย์กระดูกและข้อ

วุฒิบัตร

สาขาศัลยกรรมกระดูกและข้อ เชี่ยวชาญด้านตกแต่งข้อ
วัน เวลา
จันทร์ 08:00 - 20:00
อังคาร 08:00 - 17:00
พุธ 08:00 - 12:00
พฤหัสบดี 08:00 - 17:00
ศุกร์ 08:00 - 17:00
อาทิตย์ 12:00 - 20:00

นพ.กษิดิศ ศรีจงใจ

ศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม
รพ.เปาโล สมุทรปราการ

การศึกษา

  • แพทยศาสตรบัณฑิต ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  • วุฒิบัตรศัลยกรรมข้อเข่าและข้อ โรงพยาบาลราชวิถี
  • อนุสาขาศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม โรงพยาบาลราชวิถี

"การรักษาหรือการผ่าตัดกระดูกที่เสียหายนั้นมีจุดมุ่งหมายสำคัญก็คือการสร้าง 'Motion is Life' ให้กับผู้ป่วย คือจะทำอย่างไรให้เขาสามารถเคลื่อนไหวได้ดี ไม่เจ็บปวด เริ่มจากสามารถทำสิ่งง่ายๆ ได้ด้วยตนเอง อย่างเช่น การลุก ยืน เดิน เปลี่ยนเสื้อผ้า กินข้าว เข้าห้องน้ำก็ทำเองได้ ต่อมาก็ต้องมุ่งหวังให้หายดี สามารถออกไปทำงานได้ เล่นกีฬาได้ และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเหมือนคนทั่วไป"

เดิมที นพ.กษิดิศ ศรีจงใจ มีความชื่นชอบในด้านวิศวกรรมเป็นพื้นฐาน เมื่อเป็นนักศึกษาแพทย์จึงมีความสนใจในการทำหัตถการ (การผ่าตัด) เป็นพิเศษ โดยเฉพาะในการผ่าตัดกระดูกและข้อ ซึ่งคุณหมอมองว่าเป็นการผ่าตัดที่มีความหลากหลาย เพราะกระดูกของคนไข้แต่ละคนจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน การรักษาจึงต้องใช้ทั้งศาสตร์คือความรู้ และศิลป์คือเทคนิคที่เลือกใช้รวมถึงประสบการณ์ในการรักษา โดยหลังจากคุณหมอเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขากล้ามเนื้อ กระดูกและข้อแล้ว ยังได้ศึกษาต่อยอดในอนุสาขาศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม จึงมีความเชี่ยวชาญในการรักษาเป็นพิเศษอีกด้วย

รักษาทั้งคนไข้ทั้งจากอุบัติเหตุและความเสื่อมของร่างกาย

โดยปกติแล้ว คนไข้โรคข้อเข่าเสื่อม จะเริ่มรักษาโดยการใช้ยา ฉีดยาน้ำเลี้ยงไขข้อ หากรักษาไประยะเวลาหนึ่งแล้วไม่ดีขึ้น จึงพิจารณาถึงการผ่าตัด ในผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ เช่น ลื่นล้มจนกระดูกข้อเข่าแตก ข้อสะโพกหัก รวมถึงการเจ็บป่วยที่เกิดจากความเสื่อม อย่างหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือมีอาการข้อสะโพกขาดเลือด ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะ สูบบุหรี่มาก หรือเป็นโรค SLE และมีการใช้ยาสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน การผ่าตัดรักษาก็มีความจำเป็น

ผ่าตัดทั้งทีต้องได้ผลที่คุ้มค่าโดยพิจารณาถึงความเหมาะสม

ก่อนตัดสินใจทำการผ่าตัดให้คนไข้ คุณหมอจะพิจารณาว่า กระดูกเดิมในข้อเข่าเสื่อมตามธรรมชาตินั้นยังใช้ได้ดีอยู่หรือไม่ ยังสามารถรักษาด้วยการใช้ยาหรือวิธีอื่นใดหรือเปล่า และการผ่าตัดจะต้องคำนึงถึงอายุ อาการ และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคนไข้ หากยังใช้วิธีฉีดยาน้ำเลี้ยงไขข้อ หรือผ่าตัดส่องกล้องล้างข้อก่อนได้ก็ควรจะทำ โดยเฉพาะในคนไข้ที่อายุยังไม่มากนัก เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อใหม่เป็นครั้งที่สองเมื่ออายุเพิ่มขึ้นและข้อเทียมเสื่อมลง

ในกรณีคนไข้เคยเปลี่ยนข้อกระดูกมานานกว่า 10-20 ปี จนเกิดความเสื่อมตามอายุการใช้งาน หากคุณหมอจำเป็นต้องรื้อทิ้งแล้วเปลี่ยนข้อเข่าใหม่ คุณหมอบอกว่า "การผ่าตัดข้อเข่าข้อสะโพกก็เหมือนกับการเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์ ข้อต่างๆ มักอยู่ได้นานประมาณ10-20 ปี เมื่อถึงอายุหนึ่ง หากจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ต้องใช้ความระมัดระวังและคำนึงถึงสุขภาพของคนไข้ด้านอื่นๆ ร่วมด้วยเป็นสำคัญ"

เทคโนโลยีกับฝีมือการผ่าตัดข้อเข่าข้อสะโพก

ปัจจุบันมีการผ่าตัดกระดูกด้วยเทคนิคใหม่ๆ อย่างการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งนอกจากประสบการณ์และความรู้เดิมแล้ว คุณหมอยังได้ไปดูงานด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก และการผ่าตัดหัวเข่าผ่านกล้องเพิ่มเติมอีก อย่างคนไข้ที่เป็นนักกีฬาหรือประสบอุบัติเหตุเข่าบิด เอ็นเข่าขาด คุณหมอก็จะใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง เพื่อให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว และ สามารถกลับไปเล่นกีฬาได้เร็วขึ้น

การผ่าตัดในปัจจุบันคนไข้ไม่ต้องกลัวเจ็บมากเหมือนสมัยก่อน เพราะนอกจากจะมีการใช้ยาสลบแล้ว ยังมีวิธีการบล็อกเส้นประสาทส่วนที่รับความรู้สึก เพื่อให้หลังการผ่าตัดคนไข้จะไม่ต้องเจ็บขาและกล้ามเนื้อก็จะไม่อ่อนแรงอีกด้วย

"ในอดีตเทคโนโลยีการผ่าตัดข้อเข่าข้อสะโพกอาจได้ผลไม่ดีนัก แต่ในปัจจุบันหากวินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องผ่าตัด คนไข้ก็ไม่ต้องกลัว เพราะทั้งความรู้ของแพทย์ วิธีการ เทคโนโลยี และวัสดุทางการแพทย์ที่นำมาใช้ในปัจจุบันนั้นมีความแข็งแรงและปลอดภัย สามารถใช้ทดแทนข้อเข่าธรรมชาติได้เป็นอย่างดี และน่าจะดีกว่าหัวเข่าเดิมที่เสื่อมสภาพด้วยซ้ำ"