-
ซีสต์เต้านม…แค่ก้อนเนื้อ หรือโรคมะเร็ง?
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
08-ก.ย.-2566
ซีสต์เต้านม…แค่ก้อนเนื้อ หรือโรคมะเร็ง?

คำว่า “ก้อนเนื้อ” หรือซีสต์เต้านม กับ “ก้อนมะเร็ง” มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ หากผู้หญิงคลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม ก็อาจเกิดความกังวลว่านี่จะเป็นสัญญาณบอกโรคมะเร็งเต้านมหรือเปล่า? และนำไปสู่คำถามว่าก้อนเนื้อที่พบจะเป็นอันตรายมากแค่ไหน? ซึ่งวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับก้อนเนื้อเต้านม หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซีสต์เต้านม” ที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นก้อนมะเร็งกัน

 


อะไรคือ “ซีสต์เต้านม” ?

ซีสต์เต้านม (Breast Cyst) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่ทำให้ท่อน้ำนมขยาย เกิดเป็นถุงน้ำโป่งพองบริเวณเต้านม บางก้อนจะซ่อนอยู่ภายในเนื้อเต้านม จึงไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือคลำหาเองอาจไม่พบ ต้องอาศัยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเท่านั้นถึงจะพบ หรือบางก้อนจะปรากฏนูนขึ้นมาให้เห็นบริเวณผิวเต้านม ซึ่งสามารถคลำหาได้เอง เมื่อคลำจะรู้สึกเป็นก้อนเนื้อนุ่มๆ หยุ่นๆ กลิ้งไปมาได้ มักพบในเต้านมของผู้หญิงทั่วไป ซึ่งขนาดของก้อนเนื้อและช่วงอายุที่พบก้อนเนื้อจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล แต่ส่วนมากแล้วจะพบได้มากที่สุดในช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยจะพบก้อนเนื้อซีสต์มากขึ้นทั้งขนาดและจำนวน

 

สังเกตอาการของซีสต์เต้านม

อาการของซีสต์เต้านม ปกติแล้วหากเป็นซีสต์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะไม่แสดงอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่หากรู้สึกมีอาการ “เจ็บ” หรือ “คัด” ที่เต้านม ก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ขึ้นในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือเมื่อคลำเต้านมแล้วพบว่ามีจำนวนก้อนเนื้อเพิ่มขึ้น ก็อาจหมายถึงมีการอักเสบหรือติดเชื้อที่ซีสต์ได้

 

การตรวจและวินิจฉัยก้อนเนื้อที่เต้านม

หากสันนิษฐานว่าก้อนซีสต์มีความผิดปกติ แพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยอาการและขนาดของก้อนเนื้อเบื้องต้นก่อน ซึ่งสามารถตรวจวินิจฉัยได้ 4 วิธี ดังนี้

 


  1. การคลำเพื่อหาก้อนเนื้อโดยแพทย์

วิธีนี้จะตรวจหาได้แค่เฉพาะก้อนเนื้อหรือถุงน้ำที่ปรากฏขึ้นบนผิวหนังหรือบริเวณเต้านมที่สามารถคลำเพื่อวินิจฉัยได้ แต่จะไม่สามารถระบุได้ว่าก้อนที่พบเป็นก้อนเนื้อ ถุงน้ำเต้านม หรือก้อนมะเร็งได้ จึงต้องทำการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม

 


  1. การอัลตร้าซาวด์เต้านม (Ultrasound Breast)

คือการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสแกนบริเวณเต้านม คลื่นเสียงจะตกกระทบวัตถุภายในและสะท้อนกลับมา เครื่องจะแสดงผลเป็นรูปภาพให้เห็นอวัยวะภายใน ซึ่งสามารถระบุได้ว่าก้อนเนื้อที่เห็น คือถุงน้ำเต้านม หรือก้อนเนื้อ

 


  1. การตรวจด้วยแมมโมแกรม (Digital Mammogram)

เป็นการใช้รังสีชนิดพิเศษคล้ายการเอกซเรย์ ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ฉายลงบนเต้านมทั้งด้านบนและด้านข้าง ทำให้เห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนม หินปูน และก้อนเนื้อขนาดเล็กที่แฝงอยู่ได้




  1. การใช้เข็มเจาะดูดของเหลวไปตรวจ

แพทย์จะทำการเจาะดูดของเหลวภายในก้อนเนื้อไปตรวจ หากของเหลวที่ดูดออกมามีเลือดหรือก้อนเนื้อปนมาด้วย อาจต้องทำการตรวจเพื่อหาเซลล์มะเร็งต่อไป

 

วิธีรักษาซีสต์เต้านม

ปกติแล้วซีสต์ที่เต้านมมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาหรือความเจ็บปวดใดๆ และสามารถหายได้เองตามธรรมชาติโดยไม่ต้องรักษา แต่อาจต้องติดตามดูอาการต่อไปแทน

ทว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ซีสต์เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น มีจำนวนเพิ่มขึ้น สามารถทำการรักษาด้วยการเจาะดูดของเหลวออกจากถุงน้ำในเต้านม ซึ่งหากของเหลวที่ดูดออกมาไม่มีเลือดปนก็ไม่จำเป็นต้องทำการตรวจหรือรักษาเพิ่มเติม เนื่องจากภายหลังการเจาะดูดของเหลวออกมาแล้ว ซีสต์เต้านมจะสามารถยุบลงได้เอง แต่หากของเหลวที่เจาะออกมามีเลือดปนมาด้วย จะต้องมีการส่งตรวจเพิ่มเติมต่อไป หรือหากเจาะดูดแล้วไม่มีของเหลวไหลออกมา ก้อนเนื้อไม่ยุบลง หรือเจาะดูดแล้วมีชิ้นส่วนเนื้อปนมาด้วย อาจบ่งบอกถึงสัญญาณเซลล์มะเร็ง ซึ่งแพทย์จะต้องทำการตัดชิ้นเนื้อซีสต์เต้านมบางส่วนเพื่อส่งตรวจหาเซลล์มะเร็งต่อไป

 


ซีสต์เต้านมมีวิธีป้องกันได้หรือไม่?

น่าเสียดายที่สาเหตุการเกิดซีสต์นั้นไม่ได้มาจากไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามธรรมชาติ ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสเจ็บหรือรู้สึกรำคาญจากก้อนซีสต์ที่เต้านมได้ โดยผู้ที่เป็นซีสต์ในเต้านมควร

  1. สวมเสื้อชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป หรือสปอร์ตบรา เพื่อประคองเต้านมและช่วยให้เต้านมไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป
  2. หากรู้สึกเจ็บที่ก้อนเนื้อสามารถใช้ถุงน้ำแข็งหรือวัตถุที่มีความเย็นประคบ เพื่อบรรเทาอาการปวด
  3. ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของก้อนเนื้อ และช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาต่อไปได้

 

สรุปแล้ว ซีสต์เต้านมสามารถกลายเป็นก้อนมะเร็งเต้านมได้จริงหรือไม่?

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซีสต์เต้านมเกิดจากการโป่งพองของถุงน้ำเต้านม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ และจะหายไปได้เองหลังหมดประจำเดือนในแต่ละรอบเดือน ดังนั้นการเกิดซีสต์เต้านมจึงไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นมะเร็งเต้านมแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ผู้หญิงควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงและตรวจหาความผิดปกติของเต้านมอยู่เสมอ ซึ่งสามารถสังเกตด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการคลำเต้านมทั้ง 2 ข้างอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ในช่วงหลังประจำเดือนหมดไปแล้ว 7-10 วัน เพื่อลดการคัดตึงของเต้านมในช่วงมีประจำเดือน ทั้งนี้ ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการทำดิจิทัลแมมโมแกรมหรืออัลตร้าซาวด์เต้านมร่วมด้วยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งจะช่วยคัดกรองความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บทความโดย
นายแพทย์สุรินทร์ ดิกิจ
แพทย์ประจำสาขาศัลยกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ






สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก ศัลยกรรมทั่วไป อาคาร 1 ชั้น 1
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2145-2146

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn