-
โรคท้องร่วงและอาหารเป็นพิษในเด็ก
โรคท้องร่วง หรืออุจจาระร่วง เป็นโรคที่เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ เกิดได้หลายปัจจัย อาจเกิดจากไวรัส แบททีเรีย พยาธิ โปรโตซัว เช่น โรต้า ไวรัส ที่เรารู้จักกัน เมื่อเด็กมีอาการถ่ายเหลวมากกว่า 2 ครั้งขึ้นไป ถ่ายเป็นมูกเลือก 1 ครั้ง หรือถ่ายเหลวเป็นน้ำหลายครั้ง ใน 1 วัน คือภาวะท้องเสียแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีภาวะอาเจียนร่วมด้วยก็ถือว่าเป็นอาการผิดปกติแล้ว
อาการที่ควรพบแพทย์
1. ถ่ายอุจจาระเป็นมูกหรือมูกเลือด
2. ไข้สูงหรือชัก
3. อาเจียนบ่อย
4. ท้องอืด
5. หอบลึก
6. ไม่ยอมดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทุกชนิดและ/หรือไม่ยอมดื่มนมหรือกินอาหาร
7. ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แล้วแต่เด็กยังดูเพลีย, ซึม
8. ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำบ่อย (มากกว่า 10 ครั้งต่อวัน)
อาหารที่ควรให้รับประทานระหว่างท้องเสีย
1. เด็กเล็กที่เลี้ยงด้วยนมมารดาให้นมมารดาต่อไป ควรให้เด็กดูดนมบ่อยขึ้นกว่าปกติ
2. เด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสมให้นมตามปกติ
3. เด็กโตให้อาหารอ่อนที่ย่อยง่ายเป็นข้าวต้ม, โจ๊ก โดยอาจต้องเพิ่มให้บ่อยกว่าปกติ
ถ้าเด็กสามารถดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่และกินอาหารและนมได้ ถึงแม้จะยังถ่ายอยู่แต่ เด็กไม่อ่อนเพลีย ดูสดใสขึ้น แสดงว่าทดแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ด้วยสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ทันและพอเพียง ก็ให้ดื่มต่อไปจนกว่าจะหยุดถ่าย แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 2 – 3 วัน หรือมีข้อบ่งชี้อื่น ๆ ควรพบแพทย์เพื่อให้การรักษา
วิธีป้องกัน
การรักษาความสะอาดเพื่อกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าปาก โดยผู้ปกครองต้องหมั่นให้เด็กล้างมือทุกครั้ง ก่อนจะหยิบจับอาหารหรือชงนมให้เด็กที่กินนมผสม รวมทั้งขวดนม,จุกนม ต้องล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทันที และฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10-15 นาที
ดังนั้นจึงต้องมีขวดนมจำนวนเพียงพอที่จะมีเวลาต้มทำความสะอาดได้ ควรชงนม ในปริมาณที่กินหมด ในครั้งเดียว ถ้ายังกินไม่หมดควรมีฝาครอบจุกให้มิดชิดและไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 2 ชม. ในเด็กโตที่กินอาหารอื่นต้องเป็นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ มีภาชนะปิด ทำความสะอาด ภาชนะที่ใส่เช่น จาน, ชาม, ช้อน และอย่าลืมล้างมือให้เด็กบ่อย ๆ เพราะในวัยนี้จะชอบเอาของและมือตัวเองเข้าปากก็จะเป็นการนำเชื้อโรคเข้าตัวเองด้วย ของเล่นที่สามารถล้างทำความสะอาดได้ก็ควรนำไปล้างแต่บางชนิดที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ก็ควรทิ้งหรือเปลี่ยนใหม่
ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส "โรต้า"
ที่เป็นสาเหตุของการท้องเสียของเด็กที่พบได้บ่อยที่สุดในเด็กเล็ก ทั้งนี้ควรปรึกษาพยาบาล หรือกุมารแพทย์เกี่ยวกับการให้วัคซีนในเด็กอีกครั้ง
สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn