-
ดาวน์ซินโดรม ภาวะที่คุณพ่อและคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับคำแนะนำ
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
24-เม.ย.-2566

ดาวน์ซินโดรม ภาวะที่คุณพ่อและคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรได้รับคำแนะนำ

หนึ่งในความกังวลของคุณแม่ตั้งครรภ์ มักเป็นเรื่องของความผิดปกติที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับลูกน้อยฝนครรภ์ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับโครโมโซมนั้น ส่วนใหญ่ก็มักจะนึกถึงภาวะดาวน์ซินโดรม เพราะเป็นโรคทางพันธุกรรมที่จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่แรกเกิด โดยเด็กจะมีปัญหาทางด้านพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสติปัญญา โดยไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ทั้งนี้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีความรู้เกี่ยวกับภาวะดาวน์ซินโดรม ก็จะเป็นการเพิ่มความระมัดระวังและการรู้เท่าทันโรค เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองทารกกลุ่มอาการดาวน์ได้ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งถือเป็นการรับมือกับกลุ่มอาการดาวน์ได้อย่างรวดเร็ว

 


ทำความรู้จัก “ดาวน์ซินโดรม”

เป็นภาวะความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งโดยปกติแล้วทารกจะเกิดมาพร้อมกับโครโมโซม 46 แท่ง หรือ 23 คู่ แต่ทารกที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินขึ้นมา 1 โครโมโซม โดยโครโมโซมที่เพิ่มมานี้ ส่งผลให้การพัฒนาการทางร่างกายและสมองของทารกเกิดความผิดปกติ

            แม้ว่าคนที่เป็นดาวน์ซินโดรมจะมีพฤติกรรมและหน้าตาที่คล้ายคลึงกัน หากแต่ละคนก็จะมีระดับสติปัญญาที่ไม่เท่ากันเมื่อโตขึ้น เช่น มีไอคิวในระดับที่ต่างกันเล็กน้อยถึงปานกลาง มีการพูดได้ช้าหรือเร็วต่างกัน รวมถึงมีปัญหาสุขภาพที่ต่างกันด้วย

 

ลักษณะทางกายภาพทั่วไปของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรม

  • ใบหน้าแบนโดยเฉพาะดั้งจมูก
  • ดวงตาเป็นรูปอัลมอนด์ที่เอียงขึ้น
  • คอสั้น แขนสั้น ขาสั้น นิ้วสั้น หรือเท้าสั้น
  • หูเล็ก มือและเท้าเล็ก
  • มีลิ้นที่ยื่นออกมาจากปาก
  • จุดสีขาวเล็ก ๆ บนม่านตา (ส่วนที่เป็นสี) ของดวงตา
  • นิ้วก้อยมีลักษณะเล็ก หรือโค้งไปทางนิ้วหัวแม่มือ
  • กล้ามเนื้อไม่สมบูรณ์ หรือข้อต่อหลวม
  • ตัวเล็กกว่าปกติในคนวัยเดียวกัน




ประเภทของดาวน์ซินโดรม

โดยส่วนใหญ่ คนทั่วไปมักแยกประเภทของผู้ป่วยดาวน์ซินโดรมไม่ออก เนื่องจากผู้ป่วยจะมีลักษณะทางกายภาพและพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน แต่กลุ่มอาการดาวน์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท โดยดูจากลักษณะความผิดปกติของโครโมโซม ดังนี้

Trisomy 21 : เป็นกลุ่มอาการดาวน์ที่มีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมาหนึ่งแท่ง กลายเป็น 3 แท่ง จากปกติที่ควรมี 2 แท่ง ทำให้มีจำนวนโครโมโซมทั้งหมด 47 แท่ง มักเกิดในเซลล์ไข่ของคุณแม่ที่มีอายุมาก ซึ่งประเภทนี้พบประมาณ 95% ของผู้ที่มีกลุ่มอาการดาวน์

Translocation Down syndrome : เกิดขึ้นเมื่อโครโมโซมยึดติดหรือย้ายไปอยู่ผิดที่ เช่น โครโมโซมคู่ที่ 14 มีโครโมโซมคู่ที่ 21 ยึดติดไปด้วย แทนที่จะอยู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง มักพบกลุ่มอาการดาวน์ประเภทนี้ประมาณ 3%

Mosaic Down syndrome : ประเภทนี้มักพบประมาณ 2% ของผู้ที่เป็นดาวน์ซินโดรม โดยเกิดจากการที่เซลล์บางเซลล์ของผู้ป่วยมีโครโมโซมคู่ที่ 21 จำนวน 3 แท่ง แต่เซลล์อื่นๆ มีจำนวน 2 แท่งปกติ ทำให้มีโครโมโซม 2 แบบในคนเดียวกัน ซึ่งอาการอาจจะน้อยกว่าชนิดอื่นๆ

 

ปัจจัยเสี่ยงอาจก่อให้ทารกเกิดดาวน์ซินโดรม

แม้เราจะรู้ว่าความผิดปกติของโครโมโซมคู่ที่ 21 ที่เกินมา เป็นสาเหตุให้เด็กมีภาวะดาวน์ซินโดรม แต่ก็ไม่ทราบปัจจัยหรือสาเหตุที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความผิดปกติของโครโมโซมนี้ขึ้น แต่หนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการที่เด็กจะเกิดดาวน์ซินโดรม คือ อายุของผู้เป็นแม่ โดยผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เมื่อตั้งครรภ์จะมีแนวโน้มที่ทารกจะเป็นดาวน์ซินโดรมมากกว่าผู้หญิงที่อายุยังน้อย และยิ่งอายุของแม่มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ใครบ้างที่เสี่ยงตั้งครรภ์ทารกดาวน์ซินโดรม

  • ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก
  • คุณแม่ที่เคยคลอดบุตรคนก่อนเป็นดาวน์ซินโดรม
  • เป็นผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นดาวน์ซินโดรม
  • ผลตรวจอัลตร้าซาวด์พบลักษณะที่บ่งชี้ว่าทารกเป็นดาวน์ซินโดรม

 


จะทราบได้อย่างไรว่า ทารกในครรภ์มีภาวะดาวน์ซินโดรมหรือไม่

แท้จริงแล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทุกคนควรได้รับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม เพื่อตรวจดูทารกในครรภ์ว่ามีโอกาสหรือความเสี่ยงที่อาจเข้าข่ายกลุ่มอาการดาวน์หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีวิธีการตรวจเช็กดาวน์ซินโดรมในทารกอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือ

  1. ตรวจคัดกรองด้วยการตรวจเลือด สามารถตรวจด้วยกัน 2 แบบ  ได้แก่

การตรวจเลือดร่วมกับการตรวจอัลตร้าซาวด์ : โดยวัดความหนาของช่องทางเดินน้ำเหลืองบริเวณต้นคอทารก เพื่อตรวจหาของเหลวบริเวณลำคอของทารกในครรภ์ วิธีนี้มีความแม่นยำเพียง 80% เท่านั้น และสามารถตรวจในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 11 สัปดาห์ขึ้นไป

การตรวจด้วยเทคนิค NIPT (Non-Invasive Prenatal Test) : เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์จากเลือดของผู้เป็นแม่ เพื่อทำการวิเคราะห์ดีเอ็นเอจากรกของเด็กที่ปนอยู่ในเลือดของแม่ ซึ่งเป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่มีความแม่นยำสูงถึง 99% ไม่อันตรายต่อเด็ก และสามารถตรวจได้ในครรภ์ทุกรูปแบบที่มีอายุครรภ์มากกว่า 9 สัปดาห์ขึ้นไป

  1. ตรวจวินิจฉัยด้วยการตรวจน้ำคร่ำ เป็นการใช้เข็มเจาะดูดน้ำคร่ำผ่านทางหน้าท้อง เพื่อนำตัวอย่างน้ำคร่ำที่อยู่รอบตัวทารกในครรภ์ไปตรวจหาโครโมโซมที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการแท้งหรือน้ำเดินได้ เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 15 สัปดาห์ขึ้นไป หรือคุณแม่ที่มีผลการตรวจเลือดผิดปกติเท่านั้น

 

แม้ภาวะดาวน์ซินโดรมจะเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซมและเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เป็นแต่กำเนิด ทำให้ไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่เราก็สามารถรู้เท่าทันและรับมือได้ด้วยการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม

ดังนั้น การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในทารกตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ หรือตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญและทำความเข้าใจ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดและวิธีการตรวจจากแพทย์ที่ฝากครรภ์เพื่อเตรียมรับมือได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

บทความโดย
แพทย์หญิงศิริพร ประยูรหงษ์
แพทย์ประจำสาขาสูตินรีเวชทั่วไป




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพสตรี
โทร.02-3632-000 ต่อ 2201-2202
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn