เวียนหัวบ้านหมุน
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
07-ก.ค.-2560
อาการเวียนหัว มึนงง นับว่าเป็นอาการที่พบได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการเหล่านี้มีหลากหลาย และมีสาเหตุมาจากหลายโรคที่ซับซ้อน อาการเวียนหัวมี 2 ลักษณะ คือ
  • อาการมึนเวียนศีรษะ (Dizziness) มีความหมายรวมตั้งแต่อาการมึนศีรษะไปจนถึงอาการวิงเวียนศีรษะ เวียนหัว ซึ่งเป็นอาการไม่เฉพาะเจาะจง เกิดได้จากโรคต่างๆ เช่น โรคทางระบบไหลเวียนเลือด โรคทางระบบประสาท ภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) หมายถึง เฉพาะอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุน หรือโคลงเคลงเท่านั้น
หากผู้ป่วยมาด้วยอาการเวียนศีรษะ ต้องถามประวัติให้ชัดเจนว่าอาการที่ผู้ป่วยหมายถึงนั้น คืออะไร เพราะในผู้ป่วยบางรายอาจหมายถึงอาการมึนศีรษะ (Dizziness) หรืออาจหมายถึงอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม แม้กระทั่งอาการปวดที่เกิดจากความเครียด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการปวดรัดหนักรอบศีรษะก็อาจใช้คำว่าเวียนศีรษะได้เช่นกัน ในผู้ป่วยที่มีอาการมึนศีรษะมักจะมีอาการเวียนหัวเบาๆ หรือหนัก จะไม่มีความรู้สึกหมุน อาการมึนศีรษะนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น มีความดันตกในท่ายืน (Postural Hypotension) ผู้ที่มีอาการคล้ายจะเป็นลม (Near Syncope) ผู้ที่มีภาวะหายใจเร็วกว่าปกติ (Hyperventilation) ส่วนผู้สูงอายุที่มาด้วยอาการมึนศีรษะมักจะเกิดจากความผิดปกติของประสาทสัมผัสที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวหลายอย่างร่วมกัน ที่เรียกว่า (Multiple Sensory Deficits) ได้แก่ การมองเห็นลดลง ประสาทหูไม่ดี และความผิดปกติของการรับรู้อากัปกิริยา (Proprioception) ผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมีอาการมึนศีรษะโดยเฉพาะเวลาเดิน หรือทรงตัว อาการเวียนหัวบ้านหมุน หรือวิงเวียนศีรษะ (Vertigo) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากกระบวนการรับรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติไป อาจเป็นความรู้สึกว่าตัวเองมีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติไป หรือรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมผิดปกติก็ได้ โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะบรรยายว่ามีการเห็นสิ่งรอบตัวเอียง หมุน หรือตัวเองหมุนไปรอบๆ ในบางครั้งจะมีความรู้สึกโคลงเคลงเหมือนอยู่ในเรือ มีอาการวิงเวียน และเห็นพื้น หรือเพดานหมุน ที่เราเรียกกันติดปากว่า อาการบ้านหมุนมักเป็นเพียงชั่ววูบ เวลามีการเคลื่อนไหวศีรษะ (ก้ม-เงย หันซ้าย-ขวา) อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย เมื่อตั้งคอตรง หรือนอนนิ่งๆ จะรู้สึกดีขึ้น บางรายอาจมีอ

สาเหตุ ของอาการเวียนหัว

สาเหตุของความผิดปกตินี้ เกิดได้ตั้งแต่ความผิดปกติของระบบการทรงตัวส่วนปลาย (หูชั้นใน และเส้นประสาทการทรงตัว) หรือระบบการทรงตัวในระบบประสาทส่วนกลาง
  • หินปูนในหูชั้นในเคลื่อน หรือเวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่า (Benign Paroxysmal Positioning Vertigo: BPPV) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่พบได้บ่อยที่สุด โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหูชั้นใน พบมากในผู้สูงอายุ อาการเฉพาะของโรคนี้ คือ เวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดขึ้นทันทีทันใดในขณะเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ เช่น ระหว่างกำลังล้มตัวลงนอน หรือลุกจากที่นอน เงยหน้า ก้มหยิบของ เป็นต้น อาการมักจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นแค่ช่วงวินาทีที่ขยับศีรษะ และจะค่อยๆ หายไป ผู้ป่วยโรคนี้จะไม่มีอาการหูอื้อ ไม่พบการสูญเสียการได้ยิน หรือเสียงผิดปกติในหู (ยกเว้นในรายที่เป็นโรคหูอยู่ก่อนแล้ว) รวมถึงไม่มีอาการทางระบบประสาท เช่น แขน ขาชา หรืออ่อนแรง
  • น้ำในหูชั้นในผิดปกติ หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นในโดยยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่ามาจากความผิดปกติของน้ำที่อยู่ภายในหูชั้นใน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเวียนศีรษะแบบรู้สึกหมุนอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนและาการเดินเซ ตากระตุกร่วมด้วย หรืออาการวิงเวียนมากจนลุกนั่ง และเดินไม่ไหวสูญเสียสมดุลของร่างกาย ทำให้เซ หรือล้มได้ง่าย อาการเวียนศีรษะที่เกิดจากโรคนี้อาจนานเป็นนาทีจนถึงหลายชั่วโมง ซึ่งในระหว่างที่เกิดอาการผู้ป่วยควรอยู่นิ่งๆ ไม่ขยับศีรษะ เพราะอาจทำให้มีอาการเวียนศีรษะเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีการได้ยินลดลง และมีเสียงดังในหู บางครั้งพบอาการหูอื้อได้ด้วย
  • สาเหตุอื่นๆ
-การอักเสบของหูชั้นใน (Labyrinthitis) เกิดจากการอักเสบของเชื้อไวรัส มักมีประวัติการเป็นหวัด หรือระบบทางเดินหายใจอักเสบนำมาก่อน ถ้าเชื้อไวรัสลามเข้าสู่หูชั้นใน และเส้นประสาท จะทำให้เกิดการอักเสบ ทำให้มีอาการเวียนศีรษะรุนแรงและเป็นอยู่หลายวัน มักมีการได้ยินที่ปกติ แต่หากเป็นการอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบในผู้ที่มีประวัติโรคการอักเสบของหูชั้นกลาง โรคหูน้ำหนวก แล้วลุกลามเข้าสู่หูชั้นใน อาการจะรุนแรงมาก อาจมีอาการสูญเสียการได้ยินร่วมด้วย -โรคเนื้องอกของประสาทการทรงตัว หรือเส้นประสาทการได้ยิน (Acoustic Neuroma) จะมีอาการเวียนศีรษะร่วมกับการได้ยินลดลง บางรายอาจมีเสียงรบกวนในหู สำหรับรายที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่ และไม่ได้รับการรักษา อาจมีอาการชาที่ใบหน้าซีกนั้น อัมพาตของใบหน้า เดินโซเซ หรืออาการทางสมองอื่นๆ เนื่องจากก้อนเนื้องอกไปกดทับเนื้อสมอง -โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (Vestibular Neuronitis) ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะรุนแรงนานหลายวันจนถึงสัปดาห์ แต่ยังไม่ส่งผลต่อการได้ยิน คงได้ยินเป็นปกติ -กระดูกกะโหลกแตก หัก (Temporal Bone Fracture) -เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (Vertebra-Basilar Insufficiency)

อาการอื่นที่พบได้จากการเวียนศีรษะ

  1. คลื่นไส้ อาเจียน น้ำมูก น้ำตาไหล
  2. หน้าซีด
  3. ความดันโลหิตสูงขึ้น
  4. ปวด มึนศีรษะ

การรักษา อาการเวียนหัว บ้านหมุน

  • พยายามอย่านอนราบไปกับพื้น แต่ให้นอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้นเล็กน้อย จะช่วยบรรเทาอาการเวียนหัวแบบบ้านหมุนได้ดีกว่า
  • เมื่อเริ่มมีอาการเวียนหัว บ้านหมุน ให้พยายามระมัดระวัง เคลื่อนไหวให้ช้าลง เพื่อป้องกันการหกล้ม
  • หลีกเลี่ยงท่าทางที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะในระหว่างเกิดอาการ เช่น การหมุนหันศีรษะเร็วๆ การเปลี่ยนแปลงท่าทาง อิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม เงยคอ หรือหันอย่างเต็มที่
  • ลดปริมาณ หรืองดการสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่น ขับขี่ยานพาหนะในขณะยังมีอาการ การปีนป่ายในที่สูง

หากมีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม

  • คลื่นไส้ หรืออาเจียนซึ่งอาการเป็นมากขึ้น
  • ภาวะขาดน้ำปานกลาง หรือรุนแรง
  • มีภาวะหมดสติ
  • อาการไม่ดีขึ้น ใน 1 สัปดาห์
  • มีอาการบ่อย หรือรุนแรง
แพทย์จะพิจารณารักษาตามสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ซึ่งแนวทางการรักษาจะแตกต่างกันไป โดยจะพิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย