ผลจากที่ตรวจครรภ์...แม่นยำแค่ไหนกันนะ?
โรงพยาบาลเปาโล
03-มี.ค.-2563
ประจำเดือนไม่มา...ฉันจะท้องไหมนะ? เพื่อหาคำตอบนี้ ผู้หญิงหลายคนจึงเลือกใช้ “ที่ตรวจครรภ์” ซึ่งบางคนอาจถูกใจกับผลการตรวจที่อ่านค่าได้ ในขณะเดียวกัน ก็อาจมีบางคนที่รู้สึกไม่พอใจกับผลการตรวจเท่าไหร่นัก อ๊ะ! แต่ก่อนที่จะหวั่นวิตกกับผลบวกผลลบไปมากกว่านี้ มาทำความเข้าใจให้ดีว่า… ผลจากที่ตรวจครรภ์เชื่อมั่นได้ 100% หรือเปล่า?

อาการแบบไหน? มีโอกาสลุ้นว่า “ท้อง”

  • ประจำเดือนขาด คือ การที่ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 รอบเดือน
  • คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากมีความรู้สึกไวต่อกลิ่นต่างๆ โดยเฉพาะกลิ่นของอาหาร
  • ท้องอืด ท้องเฟ้อ เพราะการตั้งครรภ์ในช่วงแรกๆ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย คล้ายกับช่วงก่อนมีประจำเดือน
  • เจ็บหน้าอก ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ส่งผลให้ขนาดหน้าอกใหญ่ขึ้นคล้ายกับช่วงมีประจำเดือน
  • ปัสสาวะบ่อย เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้เลือดไหลผ่านไปยังไตมากขึ้น กระเพาะปัสสาวะจึงรับน้ำมากขึ้นด้วย
  • อารมณ์แปรปรวนง่าย เป็นลักษณะอาการที่พบบ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดีใจ เสียใจ หดหู่ หรือกังวล ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • เหนื่อยง่าย เพลีย อยากนอนมากขึ้น อาการเหล่านี้มักเกิดจากระดับฮอรโมนโพรเจสเทอโรนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนนี้มีส่วนช่วยให้หลับสบายนั่นเอง

ก่อนเช็คว่าท้องไหม? ต้องอ่านผลที่ตรวจครรภ์ให้เป็นนะ

สำหรับคำแนะนำในการอ่านผลของที่ตรวจครรภ์นั้น ควรอ่านหลังจากหยดปัสสาวะทิ้งไว้แล้วประมาณ 5 นาที โดยขีดในแถบวัดจะมีอยู่ 2 ขีด คือ ขีดแรก หรือ C (Control Line) และขีดที่สอง หรือ T (Test Line) ซึ่งผลของการตรวจด้วยที่ตรวจครรภ์นั้น จะสามารถแสดงผลออกมา 2 แบบ คือ...
  • แบบที่ 1 คือ มีขีดขึ้นมา 1 ขีดตรงที่ C แปลว่า...น่าจะไม่ท้อง
  • แบบที่ 2 คือ มีขีดขึ้นมา 2 ขีดตรงทั้ง C และ T แปลว่า...ตั้งท้อง

มีโอกาสแค่ไหน? ที่ผลตรวจจะคลาดเคลื่อนจากความจริง

ไม่ว่าผลที่อ่านได้จากที่ตรวจครรภ์จะบอกว่าท้องหรือไม่ ความเป็นจริงแล้ว...ผลก็อาจคลาดเคลื่อนได้! เช่น กำลังตั้งท้อง...แต่ผลตรวจขึ้นเพียง 1 ขีด ซึ่งอาจเกิดจากปัสสาวะมีความเจือจางหรือตรวจในช่วงเวลาที่เร็วเกินไป ในขณะเดียวกัน ค่าผลตรวจขึ้น 2 ขีด แต่ความเป็นจริงแล้วกลับไม่ท้อง… กรณีนี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยเหล่านี้
    • * ช่วงเวลาในการตรวจเร็วเกินไป

ปริมาณฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะ คือสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่ากำลังตั้งท้องหรือไม่? ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะเกิดขึ้นหลังปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน ดังนั้น หากตรวจเบื้องต้นแล้วผลเป็นลบหรือไม่ตั้งท้อง ควรรอเวลาอีกสักพักค่อยตรวจซ้ำ หรือตรวจในช่วงที่ประจำเดือนขาดไปแล้ว 10-14 วัน
    • * ความเข้มข้นของปัสสาวะ

หากปัสสาวะมีความเจือจางมาก ก็เท่ากับว่าความเข้มข้นของฮอร์โมนในปัสสาวะลดลง ทำให้ที่ตรวจครรภ์ไม่สามารถตรวจหาค่าของฮอร์โมน HCG ได้ ผลของการตรวจจึงเกิดความคลาดเคลื่อน
    • * ประสิทธิภาพของชุดทดสอบ

แน่นอนว่าชุดทดสอบการตั้งครรภ์แต่ละยี่ห้อมีการตรวจหาค่าความไวต่อฮอร์โมน HCG ที่ต่างกัน ดังนั้น หากเป็นยี่ห้อที่ตรวจจับค่าฮอร์โมนได้น้อย ก็อาจทำให้ได้ผลเป็นลบหรือไม่ตั้งครรภ์ได้ รวมไปถึงการเสื่อมคุณภาพของชุดทดสอบ ซึ่งอาจเกิดจากการหมดอายุของอุปกรณ์ หรือการจัดเก็บในที่ที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าผลที่อ่านค่าได้จากที่ตรวจครรภ์จะบอกว่าตั้งครรภ์หรือไม่ การเข้ารับการตรวจซ้ำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังมีความสำคัญ เพราะหากตั้งครรภ์จริง การฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งท้องจะส่งผลดีต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์