-
ลูกของคุณแข็งแรงจริงหรือเปล่า
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
06-ม.ค.-2566

ลูกของคุณแข็งแรงจริงหรือเปล่า
เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลจากการสำรวจของกรมอนามัย ที่สำรวจสุขภาพเด็กในปี 2546 และ 2547 มาจนถึงปี 2550 พบว่า เด็กไทยช่วงอายุ 1-5 ปีมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ และมีส่วนสูงน้อยลงกว่าในอดีต แต่ก็มีเด็กจำนวนหนึ่ง ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นโรคอ้วน

 

ทั้งนี้ เด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์มักมีปัญหาขาดสารอาหารและพลังงาน โดยเฉพาะวิตามินเอและธาตุเหล็ก ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดปัญหาด้านการเจริญเติบโตแล้ว ยังส่งผลต่อความบกพร่องทางพัฒนาการด้านต่างๆ เช่น สติปัญญา มีปัญหาพฤติกรรม ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำซึ่งทำให้ป่วยง่ายกว่าที่ควร

 

การตรวจสุขภาพของเด็กสำคัญอย่างไร!!

การดูแลสุขภาพของเด็กตั้งแต่เล็กจนโตในแต่ละช่วงวัยนั้นมีความสำคัญและซับซ้อน เพราะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายๆ ด้านในการดูแล เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพที่ดี สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และอารมณ์ ตามศักยภาพสูงสุดของเด็กแต่ละคน การเฝ้าระวัง คัดกรอง การให้คำแนะนำในการเลี้ยงดูล่วงหน้าก่อนถึงวัยนั้นๆ และการดูแลแบบองค์รวมจะทำให้เด็กที่มีปัญหาสุขภาพได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถลดปัญหาภาวะแทรกซ้อนที่จะตามมาได้

 

การตรวจสุขภาพของเด็ก ควรเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่ และต้องตรวจบ่อยแค่ไหน?

การตรวจสุขภาพของเด็กๆ ควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิด ต่อเนื่องไปยังวัยทารก ปฐมวัย วัยเรียน วัยรุ่น โดยในแต่ละช่วงวัยควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างจริงจังอย่างน้อย 1 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสุขภาพของเด็กแต่ละคนด้วย หากพบความผิดปกติอาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมให้ละเอียดและเฉพาะเจาะจงขึ้น ทั้งต้องมีการตรวจติดตามเป็นประจำหรือถี่กว่าเด็กทั่วไปตามความเหมาะสม ภายใต้คำแนะนำของกุมารแพทย์

 

การตรวจสุขภาพของเด็กแต่ละช่วงวัย ต้องตรวจอะไรบ้าง?

 

Infancy (6-12 เดือน)

ตรวจร่างกายตามระบบอย่างละเอียด ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบศีรษะ ติดตามพัฒนาการ คัดกรองภาวะโลหิตจาง

Early childhood (1-4 ปี)

ตรวจร่างกายตามระบบอย่างละเอียด ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ติดตามพัฒนาการ คัดกรองภาวะโลหิตจาง ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ตรวจประเมินการมองเห็น ตรวจประเมินการได้ยิน คัดกรองความเสี่ยงต่อการสัมผัสวัณโรคและสารตะกั่ว

Middle childhood (5-10 ปี)

ตรวจร่างกายตามระบบอย่างละเอียด ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ติดตามพัฒนาการ คัดกรองภาวะโลหิตจาง ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ตรวจประเมินการมองเห็น ตรวจประเมินการได้ยิน คัดกรองความเสี่ยงต่อการสัมผัสวัณโรคและสารตะกั่ว

Adolescence (11-18 ปี)


ตรวจร่างกายตามระบบอย่างละเอียด ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดความดันโลหิต ติดตามพัฒนาการ คัดกรองภาวะโลหิตจาง ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน ตรวจสายตา คัดกรองในวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงของโรค เช่น วัณโรค ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ตรวจหาโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ 


Special Case


เป็นการตรวจคัดกรองในเด็กอ้วน เช่น ตรวจไขมัน ตรวจเบาหวาน

 

Special Case เป็นการตรวจคัดกรองในเด็กอ้วน เช่น ตรวจไขมัน ตรวจเบาหวาน

 

ก่อนเข้ารับการตรวจสุขภาพ เด็กๆ ควรเตรียมตัวอย่างไร?

เด็กๆ ที่จะมาตรวจสุขภาพ หากต้องมีการเจาะเลือดตรวจระดับไขมัน เบาหวาน แนะนำให้งดอาหารและน้ำหวานต่างๆ ก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากมาตรวจสุขภาพตามช่วงวัยตามปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร ทั้งนี้ แนะนำให้นำสมุดวัคซีนมาด้วยเสมอ เพื่อตรวจสอบว่าได้รับวัคซีนว่าครบตามช่วงอายุหรือไม่

 

คำแนะนำในการเลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพ และสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้!

การตรวจสุขภาพในทุกช่วงอายุมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการคัดกรองโรค ค้นหาปัญหาที่แฝงอยู่ การได้รับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนที่โรคหรืออาการจะลุกลาม ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา เช่น ปัญหาด้านการเจริญเติบโต พัฒนาการ พฤติกรรม ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แนะนำให้ตรวจในแต่ละโปรแกรมที่เหมาะสมกับช่วงอายุ

 

ทั้งนี้นอกจากการตรวจสุขภาพแล้ว ผู้ปกครองยังสามารถสอบถามปัญหาต่างๆ ทางสุขภาพ พร้อมทั้งขอคำแนะนำในการเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการ การระมัดระวังอุบัติเหตุตามช่วงวัย และสิ่งอื่นๆ จากกุมารแพทย์ได้อีกด้วย
 


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn