-
ฝุ่น PM2.5 มลพิษร้ายทำลายปอด
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
03-ก.พ.-2566

ฝุ่น PM2.5 มลพิษร้ายทำลายปอด

บางช่วงเวลาในหลายพื้นที่ของประเทศไทย จะมีปรากฏการณ์ฝุ่นปกคลุมหนาแน่น ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ก็จะมีฝุ่นขนาดเล็กที่เรียกว่า PM2.5 ปะปนอยู่ด้วย ดังนั้นการรู้ถึงอันตรายและวิธีป้องกันฝุ่น PM2.5 แล้วนำไปปฏิบัติ จะช่วยให้เราปลอดภัยจากฝุ่น รวมถึงมลพิษทางอากาศต่างๆ ได้ดีขึ้น

 


ทำความเข้าใจกับ “ฝุ่น PM2.5”

ฝุ่น PM2.5 หรือ Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หากเทียบกับเส้นผมมนุษย์จะมีขนาดเท่ากับ 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ซึ่งขนาดที่เล็กนี้เอง ส่งผลให้ขนจมูกของเราที่ทำหน้าที่กรองฝุ่นนั้นไม่สามารถกรองได้ ฝุ่นจึงแพร่กระจายเข้าสู่ทางเดินหายใจและไปถึงชั้นในสุดของปอดได้ โดยตัวฝุ่น PM2.5 ยังเป็นพาหะนำสารอื่นๆ เข้ามาด้วย เช่น สารปรอท สารโลหะหนัก หรือสารก่อมะเร็งอื่นๆ

 

ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน?

ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ไอเสียจากรถยนต์ หรือการจราจร
  • มลพิษจากอุตสาหกรรม เช่น การก่อสร้างอาคาร การผลิตไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ
  • การเผาในที่โล่งเช่น การเผาป่า เผานาหรือพื้นที่การเกษตร และการเผาขยะ

และแม้แต่กิจกรรมในการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง ก็มีส่วนทำให้เกิดมลพิษในอากาศได้ เช่น การสูบบุหรี่ การจุดธูปเทียน และการหุงต้มด้วยถ่านไม้หรือฟืน

 

กลุ่มเสี่ยงที่ควรระวัง

  • ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
  • ผู้ป่วยโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
  • เด็ก
  • ผู้สูงอายุ
  • สตรีมีครรภ์

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษในอากาศสูงเกินมาตรฐาน เนื่องจากอาจมีอาการกำเริบและรุนแรงมากกว่าบุคคลทั่วไป

 


ความร้ายแรงของฝุ่น PM2.5

เนื่องจากตัวฝุ่น PM2.5 สามารถผ่านการกรองของขนจมูกและเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจไปจนถึงชั้นในสุดของปอดได้ แม้การได้รับฝุ่น PM2.5 จะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายแบบเฉียบพลันรุนแรง แต่หากได้รับติดต่อกันเป็นเวลานานจนเกิดการสะสมในร่างกาย จะก่อให้เกิดการรบกวนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายใน จนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดและหัวใจเรื้อรัง โรคปอดเรื้อรัง ไปจนถึงการเป็นมะเร็งปอด

 

อาการกำเริบเบื้องต้น เมื่อฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย

  • มีอาการระคายเคืองตา แสบตา
  • ไอ จาม หรือแสบจมูก
  • ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน
  • รู้สึกแน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวก
  • ระคายเคืองบริเวณผิวหนัง

 


สวมหน้ากากระวังฝุ่น ป้องกันคุณจาก PM2.5

การป้องกันฝุ่นควรทำทันที โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 หนาแน่น ซึ่งเราอาจสังเกตได้ด้วยการมองท้องฟ้า หรือตรวจสอบปริมาณฝุ่นจากแอปพลิเคชันต่างๆ และป้องกันตนเองดังนี้

  1. หากต้องออกนอกบ้าน ควรสวมหน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ดี ประเภทหน้ากาก N95 แต่หากหาหน้ากาก N95 ไม่ได้ อาจใช้หน้ากากอนามัยที่มีฟิลเตอร์ 3 ชั้น ที่มักเขียนบนบรรจุภัณฑ์ว่าป้องกัน PM2.5 ได้ หรืออาจใช้หน้ากากอนามัยธรรมดาสวมทับ 2 ชั้น หรือซ้อนผ้าเช็ดหน้าหรือทิชชูไว้ด้านใน
  2. งดทำกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM2.5 ในอากาศหนาแน่น หรือมีมลพิษทางอากาศมากๆ
  3. ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยลดฝุ่นละอองภายในบ้าน เช่น เครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะเครื่องฟอกอากาศที่สามารถช่วยกรองฝุ่น PM2.5 ได้ และจำเป็นอย่างมากในห้องที่มีการเปิดปิดประตูที่ติดกับภายนอกอาคารบ่อยครั้ง
  4. เฝ้าระวัง ติดตามข่าวสาร เพื่อการรู้ทันสถานการณ์ของฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด

     

    ทุกวันนี้ โอกาสที่เราจะหายใจเอาฝุ่นละอองขนาดเล็ก รวมถึงเชื้อโรคและสารปนเปื้อนต่างๆ เข้าไปนั้นเกิดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นเราจึงควรป้องกันตนเองอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังควรหมั่นสังเกตอาการของตนและคนใกล้ชิด หากเป็นผู้สุ่มเสี่ยงที่ได้รับฝุ่น PM2.5 แล้วมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการอื่นใด ควรรีบไปปรึกษาแพทย์จะดีกว่า

     

    บทความโดย
    นายแพทย์ณัฏฐ์ บุญตะวัน
    แพทย์ประจำสาขาอายุรกรรม
    โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ

     

     โรคปอดอักเสบ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม
     ตรวจประเมินสุขภาพก่อนร่างกายแสดงอาการ
     ทำไมเราถึงต้องตรวจสุขภาพทุกปี




    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
    แผนก อายุรกรรมทั่วไป
    โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
    โทร. 02-363-2000 ต่อ 2390-2393
    รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
    Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn