อย่าสับสน…ยาปฏิชีวนะ ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
09-ส.ค.-2565
อย่าสับสน…ยาปฏิชีวนะ
ไม่ใช่ ยาแก้อักเสบ


          คนส่วนใหญ่มักเรียกยาปฏิชีวนะว่าเป็นยาแก้อักเสบ ซึ่งเป็นการเรียกที่ไม่ถูกต้อง เพราะ "ยาปฏิชีวนะ" ไม่ใช่ "ยาแก้อักเสบ" ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าการใช้ยานี้จะทำให้โรคที่เป็นอยู่หายเร็วขึ้น เพราะยาจะไปรักษาหรือแก้การอักเสบ

ยาปฏิชีวนะคืออะไร
          ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาต้านแบคทีเรีย เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส ไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ แก้ปวด ลดไข้ ใช้รักษาเฉพาะโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น เช่น ทอนซิลอักเสบเป็นหนอง ตัวอย่างยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน อะม็อกซีซิลิน เตตร้าซัยคลิน เลโวฟล็อกซาซิน

ยาแก้อักเสบคืออะไร
          ยาแก้อักเสบ หรือยาต้านการอักเสบ เป็นยาที่ออกฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไข้ บรรเทาปวด ลดบวมแดง ไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่แล้วการอักเสบไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่มักเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น คออักเสบจากเชื้อไวรัส ผิวหนังอักเสบจากการแพ้แดดหรือสารเคมี หรือการอักเสบของกล้ามเนื้อจากการยกของหนัก ตัวอย่างยาแก้อักเสบ เช่น แอสไพริน ไดโคลฟิแนค ไอบรูโพรเฟน พอนสแตน อาร์คอกเซีย จาโปรลอค



อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
1. เกิดการแพ้ยา ซึ่งหากแพ้ไม่มากอาจมีแค่ผื่นคัน ถ้ารุนแรงขึ้นผิวหนังจะเป็นรอยไหม้ หลุดลอก หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต
2. เกิดเชื้อดื้อยา การกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อกระตุ้นให้เชื้อแบคทีเรียกลายพันธุ์เป็นเชื้อดื้อยา ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใหม่ขึ้น แพงขึ้น ซึ่งเหลือให้ใช้อยู่ไม่กี่ชนิด สุดท้ายก็จะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด
3. เกิดโรคแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะจะฆ่าทั้งแบคทีเรียก่อโรคและแบคทีเรียชนิดดีมีประโยชน์ในลำไส้ของเรา เมื่อแบคทีเรียชนิดดีตายไป เชื้ออื่นๆ ในตัวเราจึงฉวยโอกาสเติบโตมากขึ้น ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลำไส้อักเสบอย่างรุนแรง โดยผนังลำไส้ถูกทำลายหลุดลอกมากับอุจจาระ ซึ่งอันตรายถึงชีวิต

          ดังนั้นถ้ากินยาปฏิชีวนะเข้าไปเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ ทั้งที่ความจริงเป็นยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ยาก็ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัส นอกจากไม่เกิดประโยชน์ในการรักษาการอักเสบที่เกิดขึ้น ยังจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้มากขึ้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาดังกล่าวแล้ว วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุด คือ ให้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด และทุกครั้งที่ได้รับยาปฏิชีวนะมาต้องรับประทานให้ครบ เพราะ บ่อยครั้งพบว่าผู้ป่วยหยุดใช้ยาเมื่ออาการดีขึ้น ซึ่งจะมีผลเสียอาจทำให้โรคกลับเป็นซ้ำ หรือเกิดผลแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ยังรักษาไม่หายดี

แหล่งที่มา
- คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และองค์การเภสัชกรรม เรื่อง ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ
- สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เรื่อง การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมสำหรับประชาชน

                     ขอบคุณบทความดีๆ จาก

                  นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ
              ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์
          ทีมเภสัชกร โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต
Line ID : @paolorangsit

เพิ่มเพื่อน