เอาชนะวิกฤตโควิด-19 ด้วยสุขภาพจิตที่ดี
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
เอาชนะวิกฤตโควิด-19 ด้วยสุขภาพจิตที่ดี

          ต้องยอมรับว่า สถานการณ์โควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเราไม่มากก็น้อย คนทุกเพศ ทุกวัย ต้องปรับตัว วางแผนชีวิตกันใหม่ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง หลาย ๆ คนวิตกกังวลรอบด้าน ทำให้เรามองข้ามหลาย ๆ อย่าง และความสุขในชีวิตที่ลดน้อยลงไปด้วย


          อยู่ให้ได้บนความไม่แน่นอนนี้

1. ความวิตกกังวลคือทางรอด



          มันเป็นเรื่องปกติของคนเราที่จะรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อชีวิตไม่แน่นอน ความวิตกกังวล ความเรียด เป็นกลไกธรรมชาติทางความคิดที่สร้างจุดเปลี่ยนให้เราลุกขึ้นมาป้องกันตัวเอง หากรู้สึกวิตกกังวล การแสดงออกเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดบ้างก็เป็นเรื่องดี เพื่อหาที่ว่างให้ความคิดที่จะปรับตัวและเอาตัวรอดจากวิกฤตนี้ เช่น เลี่ยงกิจกรรมที่ต้องพบปะผู้คน การล้างมือบ่อย ๆ เพื่อห่างจากเชื้อไวรัสให้มากที่สุด วางแผนการออมเผื่อยามฉุกเฉิน

2. ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์


          คำนี้เราคงเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว และมันยังได้ผลเสมอ เมื่อเราคิดหาทางปรับตัวเพื่ออยู่กับวิกฤตนี้ได้แล้ว ช่วงเวลาที่เราต้องรักษาระยะห่างกัน ทำให้เราได้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น มากจนเรียกว่า เวลาว่างเยอะแยะจนไม่รู้จะทำอะไรดีแล้ว งั้นลองหากิจกรรมที่มีประโยชน์ หรืออะไรที่อยากทำมานานแล้ว เช่นการจัดบ้านให้น่าอยู่ขึ้น รื้อห้องเก็บของดูมีอะไรน่าทิ้ง อะไรน่าใช้ หาหนังสือสักเล่มอ่านยามว่าง หรือดูหนังเรื่องเก่าที่ไม่ได้ดูนานแล้ว ก็เพิ่มประสบการณ์ชีวิตและทำให้เวลาว่างของคุณมีคุณค่ามากขึ้นขณะที่เรานอนอยู่บ้านได้นะ

3. ค้นหาความสนุกใหม่ ๆ กับแก๊งเพื่อน
         


          ช่วงที่ต้องรักษาระยะห่างแบบนี้ หลาย ๆ คนคงไม่ชินกับการอยู่บ้านเฉย ๆ ไม่ได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ตามแพลน เพื่อลดทอนความตึงเครียดที่อาจเกิดขึ้นเวลาอยู่คนเดียว ลองหาเกมที่เล่นกับเพื่อน ๆ ในโซเซียลได้ หรือกิจกรรมที่ทำร่วมกันโดยไม่เสียระยะห่างกัน เช่น การดูสตรีมหนังร่วมกัน มีทติ้งออนไลน์ หรือ Challenge ต่าง ๆ ตามโซเชียล ซึ่งช่วงเวลานี้ก็เป็นโอกาสที่ดีนะ

4. สร้างเป้าหมายใหม่ให้ตัวเอง


          พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เลยตอนนี้ ช่วงเวลาที่ว่าง ๆ มาลองตั้งเป้าหมายให้ตัวเองกัน ไม่แน่ว่าอาจจะพบความเก่งกาจที่ซ่อนอยู่ก็เป็นได้ เช่น ลองเข้าครัวทำอาหารหรือขนมที่อยากทาน เพราะที่ผ่านมาคุณอาจยุ่งกับงานจนไม่มีเวลาทำเอง ลองตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตดู คุณอาจค้นพบความสามารถพิเศษอีกอย่างหนึ่งขึ้นมาก็ได้

5. ยอมรับกับความผิดหวัง



           เป็นเรื่องที่พูดกันออกมาง่าย ๆ แต่กว่าจะทำได้ช่างยากเย็นเหลือเกิน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ เราหลาย ๆ คนก็ได้รับความผิดหวังกันถ้วนหน้า ทั้งจากเรื่องเล็กน้อย เช่น แพลนเที่ยวโดนล่ม หรือ ยกเลิกคอนเสิร์ตกะทันหัน จนกระทั่งเรื่องใหญ่ ๆ อย่าง ผู้ใหญ่ในบ้านล้มป่วย หรือ การต้องนำเงินฉุกเฉินมาใช้ แม้จะเกิดความเศร้า ผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ทั้งหมด คือเรื่องจริงที่เราไม่อาจหนีพ้น การที่จะผ่านพ้นมันไปให้ได้เร็วที่สุด คือ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ยอมรับอารมณ์ที่ขุ่นมัว ความผิดหวัง เราต้องอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกแย่ แต่ต้องไม่มากจนทำให้สุขภาพจิตเราย่ำแย่นะ เราอาจจะแชร์เรื่องแย่ ๆ ของตัวเองให้เพื่อนฟัง ซึ่งการระบายความทุกข์ก็เป็นขั้นตอนให้เรายอมรับความรู้สึกนั้นและผ่านไปได้ในที่สุด

6. เข้าใจและเห็นใจกันและกัน


          สถานการณ์โควิดนั้น นำมาซึ่ง โรคภัย และ สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ คนป่วยก็เครียดเมื่อไหร่จะหายนะ? บางคนยังไม่ได้ป่วยก็เครียดว่าจะป่วยเมื่อไหร่? คนรอบตัวไปไหนมาบ้าง? ใครแพร่เชื้อได้บ้าง? ความไม่ไว้วางใจ การรังเกียจสิ่งที่มองไม่เห็นเกิดขึ้นไปทั่ว ยิ่งเพิ่มโอกาสป่วยหรือเสียสุขภาพจิตโดยใช่เหตุเข้าไปอีก หากเราวิเคราะห์โรค และ เหตุผลของเรื่องดี ๆ แล้ว เราจะเข้าใจกันมากขึ้น ไม่มีใครอยากป่วย ไม่มีใครอยากเครียดเกินความจำเป็นทั้งนั้น


ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่ Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต