LGBTQ ความหลากหลายที่ไม่แตกต่างในสังคม
โรงพยาบาลเปาโลเกษตร
20-ก.ค.-2565

LGBTQ ความหลากหลายที่ไม่แตกต่างในสังคม


          LGBTQ คือ ความหลากหลายทางเพศ
ถือเป็นความชอบที่หลากหลายเฉพาะบุคคล เฉกเช่นเดียวกับการชื่นชอบสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น รูป รส กลิ่น สี  รสนิยมต่างๆ โดยไม่ได้เกิดจากความผิดปกติจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายแต่อย่างใด


LGBTQ ย่อมาจาก

L = Lesbian          กลุ่มผู้หญิงรักผู้หญิง

G = Gay               กลุ่มชายรักชาย

B = Bisexual        กลุ่มที่รักได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง

T = Transgender กลุ่มคนข้ามเพศ จากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย

Q = Queer           กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก


เด็กชาย ชอบเล่นตุ๊กตา หรือเด็กหญิงชอบเล่นฟุตบอล  : พฤติกรรมลูกแบบนี้ เป็นข้อบ่งชี้ LGBTQ หรือไม่

          สำหรับเด็กเล็ก พฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ เกิดขึ้นจากการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว และการเลียนแบบตามสิ่งที่เด็กให้ความสนใจ โดยที่อาจไม่ได้รู้ความหมายแฝงของสิ่งนั้นๆ

ไม่ได้หมายความว่าจะมีความชอบ รสนิยมทางเพศ รวมถึงพฤติกรรมแบบเพศนั้น แต่อาจเป็นเพียงการอยากเล่นกับเพื่อน หรือพี่น้อง เป็นต้น ดังนั้นพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้ถือเป็นข้อบ่งชี้ที่จะด่วนสรุปว่าลูกเป็น LGBTQ


คำแนะนำในการเลี้ยงลูก LGBTQ

          เรื่องของความชอบถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับกันได้ รสนิยมทางเพศก็เป็นเรื่องความชอบในด้านหนึ่ง เหมือนกับความชอบสี ชอบรสชาติอาหาร ฯลฯ  และความชอบนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้เรื่อยๆ ไปตามอายุ ประสบการณ์ และบริบททางสังคม

ในทางกลับกันหากเรามองมุมกลับปรับมุมมองในฐานะของพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู เราเองก็ไม่สามารถบังคับให้ตัวเองชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รวมถึงสิ่งที่เราเคยชอบในอดีต ปัจจุบันก็เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่ควรบังคับให้บุตรหลานชอบอะไร รวมถึงยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อีกในอนาคตด้วยเช่นกัน

          เนื่องจากหากการบังคับนั้นเป็นปัจจัยทำให้เค้าไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต อาจกลายเป็นปมด้อย หรือตราบาปในใจติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต สิ่งที่พ่อแม่ควรทำมากกว่าคือ การยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น รวมถึงช่วยให้ลูกเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหา หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ลูกอาจต้องพบเจอ และเมื่อถึงวันที่ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง ได้เลือกในสิ่งที่ชอบ ได้ทำในสิ่งที่รัก ก็มีแนวโน้มที่ชีวิตของลูกจะประสบความสำเร็จมากกว่า และนั่นคือการประสบความสำเร็จในหน้าที่ของพ่อแม่ด้วยเช่นกัน


การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ทางเพศ : หากลูกอยากแปลงเพศ ควรทำไหม? กลัวลูกเลือกทางผิด

          ในทางการแพทย์ การแปลงเพศไม่ใช่เดินเข้ามาแล้วผ่าตัดได้เลย แต่จะมีกระบวนการเตรียมตัวทางการแพทย์ ซึ่งจะได้รับการดูแลโดยนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญ ประกอบไปด้วย การทำแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยาเพื่อประเมินสภาวะความพร้อมและความมั่นคงทางด้านจิตใจโดยนักจิตวิทยา และการลองใช้เพศสภาพที่ต้องการ เช่น การแต่งตัว การใช้ชีวิตเป็นอีกเพศ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด จนมั่นใจว่ามีความพร้อมและมั่นใจในการข้ามเพศ แล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเตรียมตัวผ่าตัดแปลงเพศต่อไป ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงมั่นใจได้ว่า ก่อนผ่าตัดนั้นลูกได้ผ่านการคิด ตัดสินใจ และใช้ชีวิตในแบบที่ลูกต้องการก่อนแล้ว

         สุดท้าย ไม่ว่าลูกจะเป็นเพศอะไร มีเพศสภาพแบบไหน สิ่งสำคัญที่สุดคือ สายสัมพันธ์ในครอบครัว และกำลังใจจากพ่อแม่ ที่จะทำให้ลูกกล้าเผชิญชีวิตต่อไปได้ ดูแลร่างกายแล้วอย่าลืมดูแลจิตใจกันด้วยนะคะ


บทความโดย

พญ.พรนิภา ศรีประเสริฐ กุมารแพทย์

ชำนาญการด้านจิตวิทยาสมอง การเรียนรู้และพัฒนาเด็ก โรงพยาบาลเปาโล เกษตร