ติด COVID-19 หรือยัง รู้ได้ด้วยการตรวจ Swab Test
โรงพยาบาลเปาโล
08-พ.ย.-2565

ไวรัสโควิด-19 เป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์หนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยมุ่งทำลายปอดและมีอันตรายถึงชีวิต เหตุที่โรคนี้แพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็วก็เพราะเซลล์ในเยื่อบุจมูกถูกไวรัสเกาะจับได้ง่าย และเมื่อจำนวนไวรัสในช่องจมูกและช่องปากแบ่งตัวมากขึ้น ก็ทำให้เกิดการแพร่กระจายผ่านละอองฝอยของน้ำลายและน้ำมูกจากคนสู่คนได้ง่ายนั่นเอง ดังนั้น...

 

การตรวจให้รู้ว่า เราได้รับเชื้อ COVID-19 หรือไม่

จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงการรักษา

และการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

 

การตรวจ RT-PCR หาการติดเชื้อ COVID-19 คืออะไร?

การตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR คือ การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ (RT-PCR) ในระบบทางเดินหายใจ แบบ Real-time โดยใช้ก้านพลาสติกปลายนุ่มป้ายเยื่อบุในคอหรือเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก หรือมักเรียกกันสั้นๆ ว่าการทำ Swab” ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพราะผลที่ได้มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจจับเชื้อไวรัสแม้จะมีปริมาณน้อยได้ จึงตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการติดเชื้อ รวมถึงยังเป็นวิธีตรวจติดตามผลการรักษาด้วยว่ายังมีเชื้อหลงเหลืออยู่หรือไม่

 

ขั้นตอนในการตรวจ RT-PCR หรือ Swab

  • ในหลายสถานพยาบาล กำหนดให้ผู้ที่ต้องการตรวจ RT-PCR หรือ Swab จะต้องนัดหมายผู้ให้บริการหรือ รพ. ล่วงหน้า เพราะเป็นการตรวจที่ต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องของความปลอดภัยและการปลอดเชื้อเป็นพิเศษ ทั้งจะต้องทำแบบคัดกรองเพื่อเป็นการเก็บข้อมูลและประเมินความเสี่ยงก่อนด้วย
  • เมื่อถึงวันนัดตรวจ บุคลากรทางการแพทย์จะใช้ก้านเก็บตัวอย่างแหย่เข้าไปในโพรงจมูก(nasopharyngeal swab) จนปลายแท่งชนกับผนังโพรงจมูกด้านในแล้วแช่ค้างไว้สักครู่เพื่อซับสารคัดหลั่ง และทำการหมุนเบาๆ 2-3 ครั้ง เพื่อเก็บเนื้อเยื่อ หรืออาจแหย่ก้านเก็บตัวอย่างไปที่หลังลำคอ (throat swab) และทำลักษณะเดียวกัน โดยทำที่ใดที่หนึ่ง หรือทั้งสองที่ แต่ใช้ก้านสำลีแยกกัน
  • ผู้ตรวจจะจัดเก็บก้านสำลีที่มีตัวอย่างเนื้อเยื่อไว้ในหลอดเก็บเชื้อที่เรียกว่า หลอด UTM/VTM เพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อ (ในกรณีที่มีเชื้อ) อันจะช่วยให้ตรวจพบเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • หลังจากนั้น ผู้รับบริการจะได้รับคำแนะนำในการกักตัว เพื่อรอรับผลการตรวจตามช่องทางต่างๆ เช่น E-mail, SMS หรือทางโทรศัพท์ภายใน 1-2 วัน ทั้งนี้ควรสอบถามผู้ให้บริการให้แน่ใจ และในกรณีที่ต้องการใบรับรองแพทย์ให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ทำการตรวจ

 

ใครบ้างที่ควรตรวจหาเชื้อ COVID-19 ด้วยการทำ RT-PCR หรือ Swab

สำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการคล้ายๆ หรือสงสัยว่าตนเองจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ โดยทั่วไปแล้ว เมื่อร่างกายได้รับเชื้อจะแสดงอาการภายใน 2-5 วัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ดังนั้นเราจึงควรสำรวจตัวเองก่อนว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ดังนี้

  • มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกลุ่มเสี่ยง หรือไปในสถานที่ที่มีการแพร่ระบาด
  • ได้อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่ยืนยันว่ามีการติดเชื้อ
  • เป็นผู้ที่มีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อ เช่น มีไข้ ไอแห้ง เจ็บคอ มีผื่น ตาแดง ท้องเสีย อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตัว เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หอบเหนื่อย มีน้ำมูก สูญเสียความสามารถในการดมกลิ่นและรับรส โดยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างดังกล่าว
  • เป็นบุคลากรผู้ให้การตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างใกล้ชิด
  • ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น คนขับแท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้าในตลาด เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ผู้ให้บริการสายการบิน รถสาธารณะต่างๆ

 

ทังนี้หากสำรวจแล้วพบว่าตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่มีอาการ ให้กักตัว พักผ่อน และกินยาตามอาการ หากผ่านไป 48 ชั่วโมงแล้วอาการไม่ดีขึ้น ให้พิจารณาตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีประวัติเสี่ยง ควรกักตัวอยู่บ้านอย่างน้อย 5 วัน โดยแยกตนเองออกจากคนในบ้าน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดรับประทานอาหารและใช้ของร่วมกัน ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายแล้วล้างห้องน้ำให้สะอาด และหากเริ่มมีอาการป่วยระหว่างกักตัว ให้รีบไปตรวจหาเชื้อ โดยขณะเดินทางให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ไม่แสดงอาการใดๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยที่ยังสามารถแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้ ดังนั้นหากต้องการความสบายใจก็สามารถไปตรวจได้ แม้ไม่จำเป็นนัก ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการและไม่มีประวัติเสี่ยงเลยนั้น ไม่จำเป็นต้องไปตรวจแต่อย่างใด