-
MIS-C ภาวะหลังติดโควิด…ที่ต้องเฝ้าระวังในเด็ก
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
03-ม.ค.-2566

MIS-C ภาวะหลังติดโควิด…ที่ต้องเฝ้าระวังในเด็ก
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีการติดเชื้อในเด็กเพิ่มมากขึ้น และถึงแม้ว่าอาการในเด็กจะไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ แต่กลับพบว่ามีเด็กบางส่วนเกิดภาวะการอักเสบทั่วร่างกายหลายระบบ (MIS-C) ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อโควิด-19 โดยในกรณีที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดการช็อกหรือเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

 

MIS-C ภาวะหลังติดเชื้อโควิด-19

มิสซี (MIS-C) หรือ Multisystem lnflammatory Syndrome in Children คือกลุ่มอาการที่มีการอักเสบหลายระบบในร่างกายพร้อมกันในเด็ก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง มักพบหลังหายจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสผิดปกติหรือมากเกินไป สามารถเริ่มแสดงอาการได้ตั้งแต่หลังหายจากโควิด-19 ต่อเนื่องจนถึง 2-6 สัปดาห์ มักพบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยอายุเฉลี่ยที่พบอยู่จะอยู่ที่ 8-10 ปี แม้อัตราการเกิด MIS-C จะไม่มาก แต่พบว่ามักมีอาการรุนแรง ผู้ปกครองจึงควรเฝ้าระวังและหมั่นสังเกต

 

MIS-C กับอาการที่ต้องเฝ้าระวัง

  • มีไข้สูงเกิน 38 องศา มากกว่า 24 ชั่วโมง
  • ระบบผิวหนัง: มีผื่นขึ้นตามตัว ตาแดง ปากแดง
  • ระบบทางเดินอาหาร: อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว หรือบางรายอาจมีภาวะตับอักเสบร่วมด้วย
  • ระบบทางเดินหายใจ: ปอดอักเสบ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย
  • ระบบหัวใจ: ความดันต่ำ เจ็บหน้าอก อาการช็อก (ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้)
  • ระบบเลือด: มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
  • ระบบประสาท: เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และมีอาการชัก
  • ในบางรายอาจมีต่อมน้ำเหลืองโต ส่วนมากจะพบบริเวณลำคอ คล้ายกับโรคคาวาซากิ

 

การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

เมื่อพบความผิดปกติเกิดขึ้นในเด็ก ผู้ปกครองควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิฉัย โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย อาจมีการเจาะเลือดเพื่อดูค่าการอักเสบหรือการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ (CRP) ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ หรือในบางราย หากมาด้วยอาการที่รุนแรงอาจจำเป็นต้องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram : ECHO) หากพบความผิดปกติ และแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นภาวะมิสซี คนไข้ทุกคนจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพราะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์หลายสาขา เนื่องจากมีภาวะการอักเสบหลายระบบ และในบางรายอาจไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ในการรักษา จึงต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

 

สร้างภูมิคุ้มกัน ลดเสี่ยง ด้วยวัคซีนโควิด-19

การป้องกันที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน ควรสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง สอนให้เด็กล้างมืออย่างสม่ำเสมอ เลี่ยงอยู่ในที่แออัด ไม่รับประทานอาหารหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบุตรหลานตามระยะเวลาที่กำหนดในการรับวัคซีน

 

ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการเด็กที่มีประวัติเคยติดเชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาทันที

 

บทความโดย

แพทย์หญิงกมลลักษณ์ อนันต์นิธิวุฒิ

แพทย์ประจำสาขากุมารเวชทั่วไป

โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ

 

 


สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม

แผนก กุมารเวชกรรม อาคาร 1 ชั้น 2
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ
โทร 02-363-2000 ต่อ 2209-2210
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn