-
ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
27-ม.ค.-2566

ออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน

หากพูดถึงโรคยอดฮิตของคนวัยทำงานในปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นโรคออฟฟิศซินโดรมซึ่งนับวันอัตราผู้ป่วยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เราจึงนำ ความรู้เกี่ยวกับโรคออฟฟิศซินโดรม มาบอกกัน เพื่อจะได้ทราบถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน รู้ทันอาการ และรีบรักษาก่อนลุกลาม

 

ทำความรู้จักกับ “โรคออฟฟิศซินโดรม”

โรค ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) เป็นผลมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น (Tendinitis) หรือเป็นอาการชาจากปลายประสาทที่ถูกกดทับนานๆ มักพบบ่อยในผู้ที่ต้องทำกิจกรรมอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา หรือผู้หญิงที่ต้องใส่ส้นสูงยืนทั้งวัน

 


สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม

เนื่องจากโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่มาจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ นานๆ ดังนั้นสาเหตุของโรคจึงมาจากพฤติกรรมเหล่านี้

  1. ท่าทางการนั่ง ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่นั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน การวางมือ วางศอกบนโต๊ะในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง หรือการใช้ข้อมือซ้ำๆ จากการใช้เมาส์ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อมือได้
  2. สิ่งแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ระดับหน้าจอคอม ระยะห่างจากจอกับดวงตา หรือแม้แต่แสงสว่างภายในห้องก็มีผลทำให้ท่าทางการนั่งผิดไปหรือไม่เหมาะสม

 

อาการแบบไหน เข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม?

  1. ปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ไหล่ หรือสะบัก โดยจะปวดแบบกว้างๆ ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน ซึ่งเมื่อมีอาการมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายขาด
  2. ปวดหลัง ปวดเมื่อยต้นคอ แบบมีอาการยึดเกร็งอยู่ตลอดเวลา
  3. ปวดตึงบริเวณขา หรือมีอาการเหน็บชาที่ขา
  4. มีอาการมือชา แขนชา นิ้วล็อก หรือปวดข้อมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง
  5. เหงื่อออก วูบ ตาพร่า หูอื้อ หรือมึนงง ร่วมกับอาการข้างต้น
  6. มีอาการปวดร้าวไปยังส่วนต่างๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดร้าวไปที่ไหล่ แขน หรือขา โดยจะสัมพันธ์กับท่าทางของเรา

ดังนั้น คนทำงานควรสังเกตตัวเองบ่อยๆ หากมีอาการเตือนเหล่านี้ คุณอาจกำลังเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งหากปล่อยไว้อาการจะรุนแรงขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือโรคกระดูกสันหลังคด เป็นต้น

                  ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รู้สาเหตุที่แท้จริงและรู้วิธีป้องกัน หรือรีบรักษาก่อนอาการจะลุกลามจนมีความทรมานและรักษายากขึ้น

 


โรคออฟฟิศซินโดรมรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรม สามารถทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ การปรับสภาพแวดล้อมการทำงานเพื่อให้เกิดการปรับอิริยาบถการทำงานใหม่ๆ รวมถึงปรับท่าทางในการใช้ชีวิตประจำวัน การรักษาด้วยยา การทำกายภาพบำบัด การออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อ ไปจนถึงการรักษาด้วยวิธีทางเลือกอื่นๆ เช่น การฝังเข็ม หรือการนวดแผนไทย ซึ่งการเลือกวิธีรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมจะต้องได้รับการตรวจจากแพทย์ก่อน เพื่อให้แพทย์ได้วินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ รวมถึงตรวจว่าผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนอื่นหรือไม่ มีโรคประจำตัวใดๆ ที่ไม่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีไหนบ้างหรือเปล่า จากนั้นจึงเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมที่สุดแบบรายบุคคล

 

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม...ป้องกันออฟฟิศซินโดรมได้

แม้โรคออฟฟิศซินโดรมจะเกิดขึ้นบ่อยในคนทำงานที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ เป็นประจำ แต่โรคนี้ก็สามารถป้องกันและลดโอกาสการเกิดได้ โดยปฏิบัติดังนี้

  1. หมั่นออกกำลังกายหรือยืดกล้ามเนื้อ ด้วยท่าที่เหมาะกับอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
  2. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะกับสรีระการทำงาน เช่น ปรับระดับของหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา โดยมีระยะห่างของจอเท่ากับความยาวแขน หรือปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ให้สามารถนั่งในท่าที่สบาย
  3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงาน โดยควรเปลี่ยนอริยาบถเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย เช่น หาเวลาเดินหรือลุกขยับร่างกายเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง
  4. หากต้องอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ควรพักสายตาอย่างน้อยทุก 10 นาที เพื่อลดอาการตาล้า

 

แม้ตัวโรคออฟฟิศซินโดรมเองจะเป็นอาการที่ไม่มีอันตรายร้ายแรงหรือถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงานได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการเข้าข่าย หรือมีความเสี่ยงต่อโรคออฟฟิศซินโดรม ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้องโดยแพทย์เฉพาะทาง ทั้งนี้ การปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้โรคลุกลามหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาภายหลังได้




สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม
ศูนย์กระดูกและข้อ
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02 3632 000 ต่อ 2130-2131

รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่
Line official account : ศูนย์กระดูก PLS
Line ID : @ortho_paolo_pls

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn