-
ไข้เลือดออก รู้ทันป้องกันได้
โรงพยาบาลเปาโลสมุทรปราการ
08-มิ.ย.-2566

ไข้เลือดออก รู้ทันป้องกันได้

หนึ่งสิ่งที่มาพร้อมกับฤดูฝน คงหนีไม่พ้นยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคร้ายมาให้ อย่าง “โรคไข้เลือดออก” เพราะในฤดูฝนจะเกิดแหล่งน้ำขังที่เหมาะกับการแพร่พันธุ์ของยุง และในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนหนาแน่น ก็จะเป็นแหล่งสำคัญในการแพร่ระบาดของโรค

 

รู้จักกับ “โรคไข้เลือดออก”

โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากตัวไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะ หลังถูกยุงกัดและได้รับเชื้อเป็นเวลา 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการของโรคอย่างชัดเจน ซึ่งแต่ละคนก็จะมีอาการที่รุนแรงแตกต่างกันออกไป โดยเบื้องต้นจะมีอาการคล้ายกับเป็นไข้ ต่อมาอาการอาจรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นทำให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้

 


อาการของโรคไข้เลือดออก

  • มีไข้สูงตั้งแต่ 39 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • ไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ
  • ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดดวงตา
  • มีจุดเลือดออก หรือผื่นแดงตามผิวหนังทั่วร่างกาย แขน และขา
  • มีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

กรณีอาการรุนแรง อาจมีเลือดออก เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายหรืออาเจียนเป็นเลือด หากปล่อยไว้ไข้จะเริ่มลดลง ความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็น จนถึงขั้นเกิดอาการช็อกและเสียชีวิตได้

 

การดูแลรักษาเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก

เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง แพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น

  • ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีอาการชักได้ถ้าไข้สูงมาก แพทย์จะให้ยาลดไข้ ซึ่งเป็นการให้ยาประเภทพาราเซตามอล โดยห้ามใช้ยาแอสไพริน, ibrupophen, steroid เพราะจะทำให้เกล็ดเลือดเสียการทำงาน และระคายกระเพาะอาหาร ทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
  • ให้ผู้ป่วยได้สารน้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำและเกลือโซเดียม และให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่
  • หากมีอาการอยู่ในขั้นวิกฤต จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา เพื่อจะได้ป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
  • มีการเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของเกล็ดเลือด และ hematocrit เป็นระยะๆ เพราะถ้าปริมาณเกล็ดเลือดเริ่มลดลง และ hematocrit เริ่มสูงขึ้น จะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเหลืองรั่วออกจากเส้นเลือด และอาจจะช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกหรือเลือดออก แพทย์จะต้องให้การรักษาเพื่อแก้ไขสภาวะดังกล่าว ด้วยสารน้ำ พลาสมา หรือสาร colloid อย่างระมัดระวัง เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยและป้องกันโรคแทรกซ้อน

 

 

ป้องกันก่อนติดเชื้อไข้เลือดออก

การป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรคไข้เลือดออก ทำได้โดยการสวมเสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด ใช้สารไล่ยุงประเภทต่างๆ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ในยางรถที่มีน้ำขังต้องเทน้ำทิ้งทุกสัปดาห์ น้ำในแจกันต้องหมั่นเปลี่ยน หรือเลี้ยงปลาในแหล่งน้ำเพื่อกินลูกน้ำ


ทั้งนี้การป้องกันที่ดีที่สุด คือ
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก โดยแนะนำให้ฉีดในรายที่เคยเป็นไข้เลือดออกแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ และลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากวัคซีนจะได้ผลดีเฉพาะในผู้ที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน




สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
แผนก อายุรกรรมทั่วไป
โรงพยาบาลเปาโล สมุทรปราการ 
โทร.02-363-2000 ต่อ 2390-2393
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆได้ที่

Facebook : Paolo Hospital Samutprakarn
Line official account : Paolo Hospital Samutprakarn