30-มิ.ย.-2563

“ผลตรวจสุขภาพออกมาว่ามีภาวะโลหิตจาง แต่โรคโลหิตจางต้องเป็นตั้งแต่กำเนิด

เมื่อสืบลึกลงไปก็พบว่าเพราะเสียเลือดมากจากการมีประจำเดือน”

เมื่อลูกผู้หญิงต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดมดลูกเพื่อจัดการโรคทางนรีเวช ไม่ให้ลุกลาม ที่อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก ภาวะเลือดออกในช่องคลอดผิดปกติ ภาวะปวดในอุ้งเชิงกราน รวมถึงโรคมะเร็งมดลูก ..เชื่อว่าใครก็ตามที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ มักเกิดความกลัว กังวล สับสน จนแทบไม่รู้ว่าจะจัดการสถานการณ์ตรงหน้าอย่างไรดี คุณอรอุมา โยธาสมุทร เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องเจอเหตุการณ์นี้ พบเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้จากความเข้าใจในโรคและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง พร้อมๆ กับกำลังใจจากคนในครอบครัว ทีมแพทย์ และพยาบาลที่ให้การดูแล

จุดเริ่มต้นของอาการเจ็บป่วย
“อาการเริ่มแรกที่ผิดปกติ คือ ประจำเดือนมามากเฉลี่ยใน 1 วันต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยเกิน 3-4 แผ่น และประจำเดือนมานานหลายวัน แต่เรากลับอดทนกับความผิดปกตินี้อย่างนิ่งนอนใจนาน 4-5 ปี โดยไม่ได้พบแพทย์ เนื่องจากไม่มีอาการปวดท้องใดๆ รู้สึกแค่ว่าประจำเดือนมามากเราแค่ขยันเปลี่ยนบ่อยๆ เท่านั้นเอง กระทั่งรู้สึกว่าเราต้องมาพบแพทย์บ้างได้แล้ว จึงไปพบแพทย์อีกแห่งหนึ่งก่อนที่จะเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ตอนนั้นแพทย์แจ้งว่าเพราะเรามีเลือดออกมาก ต้องรับประทานยาช่วยลดประจำเดือนให้ไหลน้อยลง ซึ่งก็รับประทานไประยะหนึ่งอาการก็กลับมาเหมือนเดิมอีก”


ประจำเดือนมา 1 เดือนเต็ม

มีทุกๆ วันในปริมาณมาก จนเลือดจาง มีภาวะซีด”

 “เดือนกันยายน 2558 เรามาตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ผลตรวจออกมาว่าเรามีภาวะโลหิตจางซึ่งโรคโลหิตจางต้องเป็นตั้งแต่กำเนิด เราก็ให้ข้อมูลแพทย์ว่าเราไม่เคยเป็นโรคโลหิตจาง แพทย์จึงหาสาเหตุอื่น เมื่อสืบลึกลงไปก็พบว่าเพราะเสียเลือดมากจากการมีประจำเดือน แพทย์จึงได้ส่งตัวเราไปพบกับสูตินรีแพทย์ โดยได้พบกับ คุณหมอสุนิตย์ ฉัตรศุภกุล และเข้ารับการตรวจด้วยการอัลตร้าซาวด์ ผลออกมา คือ พบก้อนเนื้อในกล้ามเนื้อมดลูก”

 เนื้องอกในมดลูก ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเนื้อร้ายเสมอไป
คุณหมอสุนิตย์ ให้ความมั่นใจเราตั้งแต่แรกแล้วว่าก้อนเนื้อนั้นไม่ใช่เนื้อร้าย เราไม่ได้เป็นมะเร็ง รู้สึกโล่งใจได้ระดับหนึ่ง จากนั้น คุณหมอแนะนำแนวทางการรักษา ซึ่งการรักษาเนื้องอกที่กล้ามเนื้อมดลูกมีทางเดียวคือ ต้องตัดมดลูกออก “แค่บอกว่าต้องผ่าตัดเราก็รู้สึกกลัวมากแล้ว และยังต้องตัดมดลูก ซึ่งผู้หญิงที่ยังไม่มีลูกอย่างเรากังวลมากขึ้นไปอีก ต้องใช้ระยะเวลาทำใจอยู่นาน ประวิงเวลามาเรื่อยๆ เพราะคิดว่ามันจะหายเองได้ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่หายเสียที คุณหมอก็คอยถามอาการอยู่เรื่อยๆ เพราะกลัวเราไม่รักษา และอยากให้เราใช้ระยะเวลาในการเตรียมตัวเตรียมใจ เนื่องจากเห็นว่าเนื้องอกโตช้า ไม่ใช่เนื้อร้าย สามารถรอได้ ซึ่งก็ประวิงเวลามาเรื่อยๆ 6 เดือนก็มาเช็คขนาดเนื้องอกหนึ่งครั้ง คุณหมอท่านก็น่ารักติดตามผลมาเรื่อยๆ นานกว่า 2 ปี ถึงตัดสินใจผ่าตัด”

การักษาลงเอยด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง 
สุดท้ายแล้วก็ต้องผ่าตัดเก็บไว้ไม่ได้แล้ว “ คือพี่มีประจำเดือนมา 1 เดือนเต็ม มีทุกวันในปริมาณมากๆ จนเลือดจาง มีภาวะซีด อาจจะวูบ หรือเป็นลมได้เพียงขยับตัว หรือขึ้นลงบันไดเพียง 2 ขั้น” คุณหมอสุนิตย์ แนะนำให้คุยเรื่องการผ่าตัดกับคุณหมอ สุวันชัย ชัยรัชนีบูลย์ สูตินรีแพทย์ เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งคุณหมอสุวันชัย ก็อธิบายขั้นตอนการรักษา การเตรียมตัวก่อน-หลังผ่าตัด การดูแลตัวเอง ให้ข้อมูลและอธิบายทุกขั้นตอนจนเราเข้าใจ ความกังวลใจก็ลดน้อยลง ประกอบกับทางครอบครัวก็ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่าตัดผ่านกล้อง ไม่เจ็บ พักฟื้นและใช้เวลาผ่าตัดไม่นาน ซึ่งข้อมูลทุกด้านช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจ จากที่ตอนแรกทางครอบครัวก็ไม่เห็นด้วยเรื่องตัดมดลูก แต่เพราะอาการที่เราปล่อยมานานจนมีปัญหากับรังไข่ข้างซ้าย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเอารังไข่ข้างซ้ายออกด้วย แต่ด้วยแนวทางการรักษาที่คุณหมอให้แนะนำ ทำให้ทางครอบครัววางใจ พร้อมให้กำลังใจเป็นอย่างดี อีกทั้งคุณหมอสุนิตย์ยังคอยย้ำให้คำยืนยันเสมอว่า


“การที่เราตัดมดลูก ไม่ได้หมายความว่าเราจะสูญเสียการเป็นผู้หญิง เรายังเป็นผู้หญิงเหมือนเดิม ยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ รวมถึงมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ซึ่งตรงนี้พี่เชื่อว่าเป็นสิ่ง
ที่ทุกกลัว ตัวพี่เองแต่งงานแล้ว เราก็แคร์สามี แต่คุณหมอบอกว่าไม่ต้องกลัว ยังเป็นเหมือนเดิม ให้เราสบายใจได้”

กระทั่งถึงวันผ่าตัด ทั้งคุณหมอ และพยาบาล ดูแลเราเป็นอย่างดีเพราะทุกคนรู้ว่าเรากลัว คุณหมอให้กำลังใจด้วยการกอด จับมือ ถามว่าเราพร้อมไหม เป็นคุณหมอคนเดียวที่ให้เรากอดได้ (ยิ้ม) ความรู้สึกเราเหมือนเขาเป็นพี่ชาย คุณหมอใจดีมาก ให้ความมั่นใจว่าไม่ต้องกลัวนะ ทุกอย่างจะผ่านไป แล้วทุกอย่างก็ผ่านไปจริงๆ จำได้ว่าตื่นมาเราร้องไห้เพราะดีใจที่ได้ออกมาจากห้องผ่าตัด รู้สึกถึงความปลอดภัยในชีวิต ลุกเดินเองได้ตั้งแต่วันแรก นอนโรงพยาบาล 2 คืนก็กลับบ้าน หลังจากนั้น ก็ดูแลแผลผ่าตัดจนหายดี ปัจจุบันพี่ใช้ชีวิตปกติ ดูแลสุขภาพหลักๆที่ควรทำ คือตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสบายๆ เพราะฉะนั้น อยากบอกทุกคนที่กำลังเกิดปัญหาสุขภาพเช่นนี้อยู่ อยากให้รีบรักษา ซึ่งพี่โชคดีมากที่ไม่ใช่เนื้อร้าย หรือหากเป็นเนื้อร้ายแล้วถ้ารีบรักษา ก็มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติเหมือนเดิม
วิดิโอที่เกี่ยวข้อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ศูนย์สุขภาพสตรี อาคาร 1 ชั้น 4
โทร. 0-2271-7000 ต่อ 10498-99