9 สิ่งควรทำ ใน 9 เดือน ที่ตั้งครรภ์
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
16-ก.ย.-2565

เตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่ เพื่อดูแลลูกน้อยของคุณตั้งแต่ในครรภ์

 
        เมื่อรู้ว่า คุณกำลังจะก้าวสู่การเป็นคุณแม่ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อประเมินอายุครรภ์ที่แน่นอนและภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ เพราะเมื่อตั้งครรภ์ก็จำเป็นต้องตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) หรือไม่ เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวคุณแม่และเด็กในครรภ์ รวมถึงการตรวจคัดกรองต่างๆ โดยเฉพาะโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย

          เมื่อฝากครรภ์แล้ว ว่าที่คุณแม่ก็จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งตัวคุณแม่จะได้รับการตรวจและคำแนะนำต่างๆ มากมาย คุณแม่เองก็ต้องดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อการให้กำเนิดลูกน้อยที่สมบูรณ์แข็งแรง และปลอดภัย


สิ่งที่ควรทำหลังฝากครรภ์ ตลอดทั้ง 9 เดือนขณะตั้งครรภ์

mom1

เดือนที่ 1
ในบางท่านที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ คุณหมออาจขอตรวจปัสสาวะเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ซ้ำอีกครั้ง และอาจอัลตราซาวด์ดูการตั้งครรภ์ว่าอยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ เพราะถ้าอยู่นอกมดลูกก็จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่ คุณแม่ไม่ควรซื้อยารับประทานเองเมื่อไม่สบาย เนื่องจากยาบางตัวจะส่งผลต่อการพัฒนาอวัยวะของลูกน้อย

เดือนที่ 2
คุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน อาจจำเป็นต้องปรึกษาทันตแพทย์ และทำความสะอาดช่องปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร อาการแพ้ท้องอาจรุนแรง พยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและกลิ่นแรง เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการแพ้มากขึ้น ในรายที่ไม่สามารถทานอาหารได้ควรมาพบแพทย์

shutterstock_155825624

เดือนที่ 3
คุณหมอจะอัลตราซาวด์อีกครั้งเพื่อตรวจดูว่าเป็นครรภ์เดี่ยว หรือครรภ์แฝด วัดความยาวของทารกเพื่อคำนวณกำหนดคลอดร่วมกับวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้ายที่มา บางท่านกังวลเรื่องความพิการจากโครโมโซมผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่ตรวจเลือดเพื่อสกัดเซลล์ของทารกมาดูโครโมโซม คุณหมอจะให้ยาบำรุงครรภ์ไปทาน ซึ่งมีธาตุเหล็กและสารไอโอดีนเป็นส่วนผสมหลักของยา เพื่อป้องกันภาวะซีดในคุณแม่ และภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในลูกน้อย

เดือนที่ 4
คุณแม่ควรมาตรวจครรภ์ตามนัดหมาย ควรดื่มนมอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว และทานยาบำรุงอย่างสม่ำเสมอ

เดือนที่ 5
คุณแม่สามารถตรวจสอบเพศของลูกในครรภ์ได้ เดือนนี้ท้องจะใหญ่ขึ้นมาก ทำให้นอนลำบาก คุณแม่ควรเปลี่ยนท่านอนปกติให้เป็นนอนตะแคงไปทางซ้ายจะได้ไม่กดทับเส้นเลือดใหญ่ที่วิ่งเข้าสู่หัวใจ ในเดือนนี้คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกในท้องเริ่มดิ้นแล้ว ทารกจะสามารถได้ยินเสียงและจดจำเสียงของคุณแม่ได้ และตอบสนองต่อเสียงภายนอกได้ด้วย เช่น ทารกจะเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงดนตรี เป็นต้น

เดือนที่ 6
เดือนนี้เป็นเดือนที่ทารกพัฒนาอย่างรวดเร็ว แนะนำให้คุณแม่ดูแลเรื่องอาหารเป็นพิเศษ การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กมีความจำเป็นสำหรับระบบไหลเวียนโลหิตของคุณแม่และทารกในครรภ์ด้วย ลูกน้อยในครรภ์จะมีการพัฒนาการรับรู้โดยการฟัง คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดคุยกับทารก อ่านนิทาน เปิดเพลงกระตุ้นพัฒนาการได้

shutterstock_147730244

เดือนที่ 7
คุณแม่ควรเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่การคลอด การฝึกการหายใจเพื่อบรรเทาอาการปวด การเตรียมความพร้อมของใช้ ชุดทารก เตรียมสถานที่ เมื่อมาพบแพทย์ คุณหมอจะติดตามการเจริญเติบโตของทารก โดยการตรวจหน้าท้องและอัลตราซาวด์ คุณหมอจะสอนการนับลูกดิ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์

เดือนที่ 8
คุณหมอจะนัดตรวจถี่ขึ้น และมีการตรวจเลือดครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมคลอดบุตร อาจมีการติดตามการเต้นของหัวใจทารกเพื่อประเมินสุขภาพทารกในครรภ์ อาจมีการวางแผนการคลอดในคุณแม่ที่ไม่สามารถคลอดบุตรได้เอง

เดือนที่ 9
ช่วงใกล้คลอดคุณหมอจะนัดตรวจครรภ์ถี่ขึ้นเป็นทุกสัปดาห์ มีการตรวจสุขภาพทารกในครรภ์ด้วยการติดตามการเต้นของหัวใจ ร่วมกับการอัลตราซาวด์ดูปริมาณน้ำคร่ำ และคุณแม่ควรนับลูกดิ้นทุกวัน มีการเตรียมแผนการคลอดร่วมกันของทีมคุณหมอและคุณพ่อคุณแม่





ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
โรงพยาบาลเปาโล รังสิต โทร 0-2577-8111
รับข่าวสารและกิจกรรมทางสุขภาพดีๆ ได้ที่
Facebook : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต

เพิ่มเพื่อน