ทางเลือกของการรักษา Office Syndrome
โรงพยาบาลเปาโลรังสิต
01-มี.ค.-2566

เชื่อว่าหลายคน ต้องเคยประสบกับเหตุการณ์ที่นั่งทำงานแบบยาวนานต่อเนื่องหลายชั่วโมงกันมาบ้างหรือบางคนก็เป็นบ่อยจนอาการปวดคอ ปวดบ่า ไหล่ตึง กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา โดยไม่รู้เลยว่า! อาการที่เป็นนั้น หากปล่อยไว้จนเรื้อรังก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ให้พนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ ได้เลยทีเดียว เพราะนี่คืออาการเริ่มต้นของโรค “ออฟฟิศซินโดรม”

 

ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) กับอาการที่หลากหลาย

อาการของออฟฟิศซินโดรม มักเกิดกับกล้ามเนื้อมัดเดิมที่มีการใช้งานในรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ นานๆ เป็นประจำ หากไม่รีบรักษาให้หายดีอาจกลายเป็นภาวะเรื้อรัง ถึงตอนนั้นการรักษาก็จะยากขึ้นและใช้เวลานานขึ้น และอาจไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาอยู่ในสภาพเต็มร้อยเหมือนเดิม โดยกลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่พบบ่อย มีดังนี้

  1. อาการปวดศีรษะ มีหลายรูปแบบ บางรายปวดขมับ บางรายปวดบริเวณด้านหลังถึงท้ายทอย ปวดหน้าผาก ปวดระหว่างคิ้ว หรือปวดแบบไมเกรน เนื่องจากการใช้สายตามากเกินไป และมีความเครียดสะสม รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ
  2. อาการปวดเมื่อยบริเวณคอ กล้ามเนื้อช่วงหลังไปถึงบริเวณก้น เกิดจากการนั่งในท่าเดิมนานเกินไป หากปล่อยไว้นานจะกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้
  3. อาการเหน็บชาตามแขน ขา เกิดจากการอยู่ในอิริยาบถเดียวนานๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี
  4. อาการเจ็บ ชา ตึงตามร่างกาย เป็นกลุ่มอาการที่สืบเนื่องมาจากอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น หรือเส้นประสาทอักเสบ บางรายที่เป็นหนักจะมีอาการเหน็บชาหรือนิ้วล็อกร่วมด้วย

 

การรักษาอาการ Office Syndrome

การรักษาโรคออฟฟิศซินโดรมมีหลายรูปแบบ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะได้รับการซักประวัติและตรวจร่างกายจากแพทย์เฉพาะทางอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ เพราะอาการของแต่ละคนเกิดได้จากหลายปัจจัยและมีความแตกต่างกันในรายละเอียด จึงต้องเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมกับสาเหตุและอาการที่เป็น เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ไม่ว่าจะเป็น

  1. การทานยา : เป็นการรักษาที่เห็นผลไว เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มมีอาการในช่วงแรก ควรทำร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะหากไม่แก้ที่สาเหตุ อาการนั้นๆ ก็มักกลับมาเป็นอีกหลังจากหยุดยา
  2. การทำกายภาพบำบัด : เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นไปยังจุดที่เกิดอาการ และเป็นการแก้ที่สาเหตุอย่างตรงจุด การทำกายภาพบำบัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจะให้ผลการรักษาที่ดีมาก
  3. การนวดเฉพาะที่บริเวณจุดปวด : วิธีนี้จะช่วยคลายกล้ามเนื้อได้ดี แต่ควรอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพราะโรคบางชนิดหรือผู้ป่วยบางรายอาจมีข้อห้ามในการนวด
  4. การฝังเข็ม : เป็นการฝังเข็มเฉพาะจุดที่ปวด (Dry needling) เจาะจงไปยังจุดที่เป็นสาเหตุของอาการปวด เหมาะสำหรับอาการกล้ามเนื้อยึดตึงสะสม เห็นผลเร็วและช่วยลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนจากการกินยาแก้ปวดเป็นเวลานานๆ ได้
  5. การยืดกล้ามเนื้อในท่าต่างๆ : วิธีนี้ ผู้มีที่อาการในช่วงเริ่มแรกสามารถทำได้บ่อยๆ เมื่อรู้สึกปวดเมื่อย เพราะจะช่วยคลายกล้ามเนื้อ ไม่ให้การอักเสบลุกลามจนเรื้อรังได้

 

ทั้งนี้ทุกวิธีการรักษาควรอยู่ในการพิจารณาและการดูแลของแพทย์เฉพาะทาง และเพื่อประสิทธิภาพและผลการรักษาที่ดี ผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมการใช้ร่างกายตามคำแนะนำ รวมถึงมีความสม่ำเสมอในการเข้ารับการรักษา ซึ่งในบางกรณีต้องใช้ระยะเวลาและความต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ  

 

ขอบคุณบทความดีๆ จาก

พญ. ปวีณา วิมลวัตรเวที

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู