โรต้าไวรัส ภัยร้ายใกล้ตัวเด็ก
โรงพยาบาลเปาโลพระประแดง
19-ม.ค.-2566

เชื่อว่า คุณพ่อคุณแม่มือใหม่หลายคน อาจยังไม่รู้เท่าทันเชื้อไวรัสโรต้าและความรุนแรงของโรคติดเชื้อชนิดนี้ ไวรัสโรต้า เป็นไวรัสกลุ่มอาร์เอ็นเอ (Double-stranded RNA virus) ในตระกูล (Family) Reoviridae ซึ่งมี 7 สายพันธุ์  ได้แก่ A, B, C, D, E, F และ G ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบเกือบทุกคนมักเคยติดเชื้อไวรัสนี้

 

ไวรัสโรต้าษติดต่อได้อย่างไร ?

จริงๆ แล้ว เด็กทุกคนแทบจะเคยติดเชื้อไวรัสนี้อย่างน้อยสักครั้งหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ มักได้รับเชื้อนี้เข้าทางปากผ่านการกิน เช่น การกินนม กินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเชื้อโรคนี้จะปนเปื้อนอยู่ตามสิ่งของ ของเล่น ทั้งนี้เชื้อไวรัสโรต้านี้จะมีชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายวันจนถึงหลักเดือนได้ หากไม่เช็ดออกด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และเมื่อลูกน้อยนำสิ่งของที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่เข้าปาก หรือมือเปื้อนเชื้อแล้วหยิบขนมหรืออาหารเข้าปาก ก็จะทำให้เชื้อนี้เข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้เด็กมีอาการไข้ ท้องเสีย อาเจียน โดยอาการมักปรากฏหลังจากรับเชื้อแล้วใน 2-10 วัน โดยสายพันธุ์หลักที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อในเด็กทั่วโลกมากกว่า 95% มักเกิดจากสายพันธุ์ G1, G2, G3, G4 และ G9

 

อาการของลูกน้อยเมื่อติดเชื้อโรต้าไวรัส

  • หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน ลูกจะเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งแสดงว่าไวรัสโรต้านั้นอยู่ในกระเพาะอาหาร บางรายอาเจียนได้มากกว่า 7-8 ครั้งต่อวัน
  • ลูกจะดูอ่อนเพลีย ทานอาหารไม่ได้อยู่ประมาณ 1 วัน กรณีที่อาการไม่รุนแรง อาการไข้และอาเจียนมักจะหายได้เองภายใน 2-3 วัน
  • มีไข้ขึ้นสูง โดยอาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส และทำให้เกิดอาการชักได้
  • มีอาการปวดท้อง ท้องเสีย ถ่ายเป็นน้ำตามมา เหมือนอาหารไม่ย่อย อุจจาระเป็นฟอง มีกลิ่นเปรี้ยว เมื่อเชื้อโรคเคลื่อนจากกระเพาะไปสู่ลำไส้
  • อาจยังมีอาการท้องเสีย มีลม มีปัญหาการย่อยแลคโตสนานต่อไปได้อีก 1-3 สัปดาห์

 

ใครเสี่ยงต่อโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า?

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสถานที่ที่พบมาก คือ สถานเลี้ยงเด็กเล็ก โรงเรียน หรือสถานที่ที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก นอกจากนี้ อาจพบการติดเชื้อได้ในผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงตลอดปี 2560 จำนวน 985,544 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นการป่วยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี กว่า 226,909 ราย

 

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ป้องกันอย่างไร?

  1. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือทั้งก่อนรับประทานอาหาร และหลังการใช้ห้องน้ำ
  2. กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหาร เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน
  3. รับประทานอาหารที่ปรุง าสุก ร้อน สะอาดำ ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิดก่อนเก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และการเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน

 

ปกป้องลูกน้อยด้วย "วัคซีนโรต้า"

สิ่งสำคัญในการปกป้องลูกน้อย คือ การพาลูกมารับการหยอดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ซึ่งถือเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดในปัจจุบัน โดยการหยอดวัคซีนโรต้าสามารถป้องกันโรคได้ร้อยละ 70-90 ซึ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่พาบุตรหลานมารับวัคซีนป้องกันได้เร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นการเสริมเกราะป้องกันให้เด็กห่างไกลจากโรคร้ายนี้ได้เร็วขึ้น

 

วัคซีนโรต้า สามารถให้โดยการหยอดทางปาก โดยทารกควรได้รับวัคซีน 2 หรือ 3 ครั้ง ขึ้นกับยี่ห้อของวัคซีนที่ได้รับ

  • หากเป็นวัคซีนชนิดหยอด 2 ครั้ง ควรได้รับที่อายุ 2 เดือน และ 4 เดือน
  • หากเป็นวัคซีนชนิดหยอด 3 ครั้ง ควรได้รับที่อายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน

 

ทั้งนี้ วัคซีนโดสแรกควรได้รับก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และวัคซีนโดสสุดท้ายควรได้รับก่อนอายุ 8 เดือน โดยหลังเด็กอายุ 8 เดือนไปแล้ว เราจะไม่ให้วัคซีนป้องกันไวรัส ทั้งนี้เพราะในเด็กที่อายุมาก การเริ่มให้วัคซีนอาจจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดลำไส้กลืนกัน จึงไม่แนะนำ

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คลินิกเด็ก 24 ชม.

โรงพยาบาลเปาโล พระประแดง

โทร. 02-818-9000 ต่อ 107, 108