ผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคที่จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดบ่อยกว่าคนทั่วไป เช่น ต้อกระจก แผลที่เท้า ถุงน้ำดีอักเสบ และหลอดเลือดตีบตัน เป็นต้น

ผู้ป่วยเบาหวานสามารถผ่าตัดได้ แต่ต้องได้รับการประเมินสภาพร่างกาย และการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมเสียก่อน บางครั้งแพทย์ต้องเลื่อนการผ่าตัดออกไปจนกว่าจะควบคุมน้ำตาลในเลือด และรักษาให้สภาพทั่วไปของผู้ป่วยดีพอเสียก่อน แต่ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนจำเป็นต้องรีบผ่าตัดก็สามารถทำได้แต่มีความเสี่ยง ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะก่อนผ่าตัดจนถึงระยะหลังผ่าตัด เพื่อลดอัตราเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจพบในผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการผ่าตัด ได้แก่
• แผลผ่าตัดหายช้า
• มีการติดเชื้อที่แผลผ่าตัดได้ง่าย
• ภาวะน้ำตาลสูง (Hyperglycemia) หรือภาวะน้ำตาลต่ำ (Hypoglycemia)
• Diabetic Ketoacidosis (DKA) จากการควบคุมน้ำตาลไม่ได้
• ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย
การลดความเสี่ยงของผู้ป่วยเบาหวานก่อนผ่าตัดในส่วนของอาหาร สามารถทำได้โดยนักกำหนดอาหารจะช่วยปรับเปลี่ยนอาหารให้เหมาะสมก่อนผ่าตัด ทำให้การรักษาได้ผลตามเป้าหมาย จากการควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติด้วยการปรับเปลี่ยนอาหารดังนี้
• รับประทานโปรตีนที่สมบรูณ์เช่น ไก่ ปลา ไข่ หมู ให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพราะโปรตีนช่วยสร้างความแข็งแรงของเนื้อเยื่อ และช่วยให้แผลหายตามกำหนด
• รับประทานอาหาร ประเภท ข้าว แป้ง ธัญพืชขัดสีน้อย เช่น ข้าวกล้องมีกากใย และมีวิตามินบี1 ช่วยปรับน้ำตาลให้คงที่
• หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่นอาหารแปรรูป อาหารหมักดอง เพราะจะกระทบต่อเกลือแร่ในร่างกาย
• งดน้ำตาลในอาหาร และเครื่องดื่มซึ่งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป
• เพิ่มผักกากใยสูงทุกมื้อซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำตาล โซเดียม และไขมัน ขับออกทางระบบขับถ่ายทำให้การควมคุมน้ำตาลได้ดี
นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว เจ้าหน้าที่จะมีการเตรียมแบบฟอร์ม DM Report สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องได้รับการผ่าตัด มีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเบาหวานในการร่วมดูแลตลอดจนการผ่าตัดสิ้นสุดเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดที่ปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากน้ำตาลสูงเกินไป หรือต่ำเกินไป
ตลอดเวลาที่อยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยเบาหวาน จะได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ นักกำหนดอาหาร วิทยากรเบาหวาน นักกายภาพบำบัด เภสัชกร หากผู้ป่วยมาตรวจตามนัด และมีการรักษาต่อเนื่องเจ้าหน้าที่จะทำการนัดดูแลแผลผ่าตัดในวันเดียวกับแพทย์เฉพาะทางเบาหวาน เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบรวบยอดในวันเดียว โรคที่พบได้บ่อยนอกจากการผ่าตัดใหญ่คือผู้ป่วยมีบาดแผลเรื้อรังมาก่อน ที่ต้องนัดทำแผลหลายครั้ง เมื่อพบว่าบางรายบาดแผลหายช้า หายยาก ศัลยแพทย์จะขอตรวจค่าน้ำตาล หากพบว่าค่าสูงกว่าที่กำหนด จะมีการส่งต่อปรึกษาแพทย์ต่อมไร้ท่อในการดูแลรักษาร่วมกัน เพื่อกำจัดสาเหตุการหายช้าของแผล บ่อยครั้งที่เราพบว่าบาดแผลหายช้าจากการที่ผู้ป่วยไม่เคยตรวจน้ำตาลมาก่อนเลย ดังนั้น ผู้มีความเสี่ยงเบาหวานควรรับการตรวจร่างกายประจำปีเพื่อการป้องกัน และดูแลตัวเองที่ดี
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์เบาหวานและเฉพาะโรค อาคาร 1 ชั้น 2 โทร. 02-271 7000 ต่อ เบาหวานและเฉพาะโรค